Grid Brief
- วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องออกมาคุ้มครองเงินฝากของประชาชน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์
- กฎหมายคุ้มครองเงินฝากได้ทยอยปรับลดวงเงินที่คุ้มครองลงแบบขั้นบันได จากคุ้มครองเต็มจำนวนวงเงินสูงสุด 25 ล้านบาท เมื่อปี 2551 เหลือเพียง 1 ล้านบาทในปี 2564 นี้
- สำหรับผู้ที่มีเงินฝากมากกว่าวงเงินที่รัฐบาลคุ้มครอง ควรมีการบริหารจัดการด้วยการนำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พันธบัตร สลาก หุ้น ทองคำ ฯลฯ
Work From Home อยู่ดี ๆ หลายคนอาจนึกอยากออกไปถอนเงินจากแบงก์ เพราะร้อนใจขึ้นมา เมื่อได้ทราบข่าวว่าตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา กฎหมายได้ลดวงเงินการคุ้มครองเงินฝากให้ประชาชนผู้ฝากเงินเหลือเพียง 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายชื่อผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน ที่ฝากไว้เป็นเงินบาท ทั้งบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน ในสถาบันการเงินที่เปิดรับเงินฝากในปัจจุบันทั้งหมด 35 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทย 18 แห่ง สาขาธนาคารต่างประเทศ 12 แห่ง บริษัทเงินทุน 2 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง
เรื่องนี้ไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะรัฐบาลได้ทยอยลดการคุ้มครองเงินฝากทั้งจำนวนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์มาไม่น้อยกว่า 13 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา หลังรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 และเริ่มก่อตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากในตอนนั้น จากการผลักดันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
- ในช่วงแรกเริ่มลดจากจากคุ้มครองทั้งจำนวนมาเหลือ 25 ล้านบาท ในช่วง 11 สิงหาคม 2558 ถึง 10 สิงหาคม 2559 และตั้งเป้าจะลดเหลือ 1 ล้านบาท
- ในช่วง 11 สิงหาคม 2559 แต่ดูเหมือนคนไทยยังไม่พร้อม จึงมีการแก้ไขกฎหมายอีกครั้งและปรับเป็นทยอยลดการคุ้มครองลงแบบขั้นบันได
- โดยให้คุ้มครองในวงเงิน 25 ล้านบาท ในระหว่าง 11 สิงหาคม 2558 ถึง 10 สิงหาคม 2559 ลดเหลือ 15 ล้านบาท
- ในระหว่าง 11 สิงหาคม 2559 ถึง 10 สิงหาคม 2561 ลดเหลือ 10 ล้านบาท
- ในระหว่าง 11 สิงหาคม 2561 ถึง 10 สิงหาคม 2562 ลดเหลือ 5 ล้านบาท
- ในระหว่าง 11 สิงหาคม 2562 ถึง 10 สิงหาคม 2563 และจะลดเหลือเพียง 1 ล้านบาท ตั้งแต่ 11 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป แต่ก็มีการเลื่อนบังคับใช้อีกครั้ง มาเป็น 11 สิงหาคม 2564 นี้แทน
วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องออกมาคุ้มครองเงินฝากของประชาชน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์
สำหรับเหตุผลว่า ทำไมก่อนหน้านี้ รัฐบาลถึงรับคุ้มครองเงินฝากทั้งหมด ก็เพราะเกิด “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ ประชาชนขาดความเชื่อมั่น จึงพากันแห่ไปถอนเงิน กระทั่งบริษัทไฟแนนซ์ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งต้องปิดกิจการลง เพราะขาดสภาพคล่อง อาทิ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี ) ธนาคารศรีนคร ธนาคารมหานคร ธนาคารแหลมทอง ธนาคารสหธนาคาร และธนาคารนครหลวงไทย
รัฐบาลจึงต้องเข้ามาช่วยเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ฝากเงิน ด้วยการรับคุ้มครองเงินฝาก โดยการรับประกันว่าจะจ่ายเงินฝากคืนผู้ฝากทุกบาททุกสตางค์ หากสถาบันการเงินในระบบเกิดปัญหาจนต้องปิดกิจการ เพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศทำงานตามกลไกปกติต่อไปได้
ทว่า หลังวิกฤตผ่านพ้นไป สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีสุขภาพการเงินที่ดี เห็นได้จากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) เกินเกณฑ์ที่ ธปท.และมาตรฐานสากลกำหนดที่ 11.5-12.5 เปอร์เซ็นต์ โดยข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2564 อยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือมีมูลค่า 8.234 แสนล้านบาท พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ แบงก์มีเงินหน้าตักไว้สู้ความเสี่ยงเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้ แถมมีเงินการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องทางการเงินที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตามเกณฑ์ คือจากการทดสอบในภาวะวิกฤต (Stress Testing) ของ ธปท.ในกรณีร้ายแรงมาก ๆ หากมีเงินไหลออกรุนแรง แบงก์จะมีกระแสเงินสดเพียงพอในการรับมือกับสถานการณ์นั้นได้นาน 30 วัน ยิ่งเมื่อในความเป็นจริงโอกาสเกิดเงินไหลออกรุนแรงมีน้อย ฐานะการเงินแบงก์จึงแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ และธุรกรรมการเงินของแบงก์ก็มีทั้งเงินไหลเข้าและไหลออก หมุนเวียนกันไปตามปกติตลอดเวลา
นอกจากนี้ หากมองในแง่หนี้เสียที่ค้างชำระเกิน 3 เดือนติดต่อกัน หรือ NPL ที่หลายคนอาจกังวลว่าอาจกระทบฐานะการเงินแบงก์นั้น ในสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 ระบาด ทำให้เศรษฐกิจกำลังโคม่า อันนี้ต้องยอมรับว่าฟันธงได้ยาก เพราะไม่มีใครรู้อนาคตแน่ชัด แต่ถามว่าหาก NPL มากขึ้น แบงก์จะรับมือไหวไหม เอาอยู่หรือเปล่า ต้องบอกว่า “รับไหว” เพราะการกันเงินสำรองหนี้เสียของระบบแบงก์สูงกว่าเกณฑ์มาก ที่สำคัญแบงก์ส่วนใหญ่จะกันสำรองหนี้เกินมูลค่าหนี้ที่ปล่อยกู้ไป หมายความว่าหากหนี้ที่ปล่อยกู้เกิดเสียหาย ก็ไม่ระคายฐานะการเงินของแบงก์ เพราะได้กันเงินสำรองสำหรับความเสียหายเกินมูลค่าหนี้เอาไว้แล้ว หากมีผลก็คงเป็นสัดส่วนของกำไรที่แบงก์อาจได้รับน้อยลงบ้าง หากเกิดหนี้เสียสูงขึ้นจริง
สำหรับผู้ที่มีเงินฝากมากกว่าวงเงินที่รัฐบาลคุ้มครอง ควรมีการบริหารจัดการด้วยการนำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พันธบัตร สลาก หุ้น ทองคำ ฯลฯ
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากจำนวนผู้ฝากเงินจะพบว่า 98.03 เปอร์เซ็นต์ของผู้ฝากเงินทั้งระบบ ซึ่งมีมากกว่า 100 ล้านบัญชี ยังได้รับการคุ้มครองเงินฝากเหมือนเดิม เพราะมีเงินในบัญชีไม่เกิน 1 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าใครอยู่ในข่ายนี้ก็ไม่ต้องกังวลใจเกินกว่าเหตุ เพราะไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากที่ผ่านมาเลย แปลว่าประชาชนผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศยังได้รับการคุ้มครองเหมือนเดิม แต่มูลค่าของเม็ดเงินส่วนนี้ที่ถูกคุ้มครองอาจไม่สูง คิดเป็นราว ๆ 20 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเงินฝากทั้งระบบที่ประมาณ 15.28 ล้านล้านบาท (ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564)
ส่วนผู้ฝากอีก 1.97 เปอร์เซ็นต์ของผู้ฝากทั้งระบบ ซึ่งเป็นกลุ่มมีความมั่งคั่ง จำเป็นต้องบริหารจัดการให้เงินไปทำงานในหลากหลายรูปแบบขึ้น อาทิ ลงทุนในพันธบัตร สลาก หุ้น ทองคำ หรือในธุรกิจต่าง ๆ หรือกระทั่งการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายอำนวยความสะดวกให้นำเงินออกนอกประเทศไปได้ง่ายขึ้นด้วย
ทั้งนี้ เพราะหากเจ้าของเงินนำเงินไปทำงาน ให้เกิดดอกผลมากกว่าการกินดอกเบี้ยเงินฝากที่ผลตอบแทนต่ำ แต่ถ้ายังฝากเงินอยู่เหมือนเดิมโดยให้แบงก์คุ้มครองได้ ก็ไม่ควรเกิน 1 ล้านบาท/รายชื่อ/สถาบันการเงิน รวม 35 แห่งที่ฝากได้ ซึ่งก็จะได้รับการคุ้มครองรวมสูงสุด 35 ล้านบาท/รายชื่อ
ส่วนใครที่มีเงินมากกว่านั้น ก็ต้องยอมรับความเสี่ยง ซึ่งเม็ดเงินที่เข้าข่ายเกินการคุ้มครองของกฎหมายมีมากราว 80 เปอร์เซ็นต์ของเงินฝากทั้งระบบในปัจจุบัน
โดยสรุปแล้ว กฎหมายลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท คนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องกังวลอะไรเลย แต่คนที่มีเงินเย็นก้อนใหญ่ต่างหากจำเป็นต้องปรับตัวด่วน!
Cover Illustration โดย ANMOM