Grid Brief
- การพัฒนาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันควรต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economic Model)
- โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าวนั้น ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
- PEA ได้จัดโครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจทั้งสามนั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เป็นองค์กรที่มีปณิธานมุ่งมั่นในการดำเนินงานที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการดำเนินงานทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยนำมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ได้แก่ มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน
ทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบ ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’ อันเป็นแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดรับกับนโยบาย Carbon Neutrality ของประเทศไทย ที่ต้องมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในพ.ศ. 2593
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำคัญอย่างไร
การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจและเศรษฐกิจเติบโตก้าวหน้า มีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติของโลกเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานกับชาวโลก
องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงได้กำหนดเป้าหมายกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เชื่อมโยงกัน โดยใช้ชื่อว่า ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ’ หรือ Sustainable Development Goals (UN SDGs) เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเรา ซึ่งหลายองค์กรในโลก รวมถึง PEA ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการดำเนินงานขององค์กร
สำหรับคนไทยมีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทยมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและใช้พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
โมเดลเศรษฐกิจ BCG คืออะไร
การไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) หมายถึง รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมโยงระหว่างระบบเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้านเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) แล้วพัฒนาควบคู่กันไป
หลักสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจ BCG คือการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำพาประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นแนวทางการวางแผนงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใช้เป็นแนวทางการพัฒนา โดย PEA ได้จัดโครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเพื่อดำเนินงานให้สอดคล้องกับโมเดลนี้
โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าวนั้น ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)
ระบบเศรษฐกิจที่นำความรู้และนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านชีววิทยาหรือวิทยาศาสตร์ชีวภาพอื่น ๆ มาช่วยพัฒนาการผลิตสินค้าและบริการในระดับอุตสาหกรรม ต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตร โดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่น เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ภายใน พ.ศ. 2593 ซึ่งมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย แต่จะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพอยู่ถึง 11 เป้าหมาย
สำหรับโครงการด้านเศรษฐกิจชีวภาพของ PEA ได้แก่ โครงการ PEA พลังงานสะอาดเพื่อชุมชน เป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ด้วยการสนับสนุนระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ให้กับชุมชนที่อยู่ห่างไกล ระบบไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ให้มีพลังงานไฟฟ้าในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคง พอเพียง และยั่งยืน ทั้งยังเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคด้วย
บรรลุพันธกิจของ UN SDGs 3 เป้าหมาย ได้แก่
- เป้าหมายที่ 1 : ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่
- เป้าหมายที่ 7 : การสร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถหาซื้อได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน
- เป้าหมายที่ 9 : สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ระบบเศรษฐกิจที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาวงจรความเสื่อมโทรมของทรัพยากร มลพิษ และขยะ ด้วยการให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ การลดปริมาณขยะให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ (Zero Waste) การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ตลอดจนการนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการแปรสภาพกลับมาใช้ใหม่ (Recycle / Upcycle)
สำหรับโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของ PEA ได้แก่
โครงการ 1 ตำบล 1 ช่างไฟฟ้า เป็นการจัดอบรมหลักสูตรช่างไฟฟ้าเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน และสร้างงานสร้างอาชีพ ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชน สังคม
โครงการนำวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์ การนำพัสดุอุปกรณ์เหลือใช้จากการดำเนินการของ PEA ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาผลิตเป็นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น ชุดรับแขกที่ผลิตจากลูกถ้วย เหล็ก และสายโทรศัพท์ชนิดมีสลิงในตัว เป็นต้น
โครงการเศษกิ่งไม้สร้างเศรษฐกิจชุมชน การนำเศษไม้เนื้อแข็งที่ได้จากการลิดต้นไม้ที่อยู่ใกล้แนวสายไฟฟ้า เพื่อให้การจ่ายกระแสไฟฟ้ามีความปลอดภัย ไปให้ชุมชนแปรรูปเป็นสินค้าไว้จำหน่าย ส่วนเศษวัสดุจากการแปรรูปยังใช้เป็นถ่านในครัวเรือนหรือนำไปทำปุ๋ยได้อีกด้วย จากการดำเนินโครงการนี้ ทำให้ PEA ได้รับรางวัลชนะเลิศ Asia Responsible Enterprise Awards (AREA) 2020 สาขาเสริมสร้างพลังงานทางสังคม ในฐานะผู้ประกอบการที่มีผลงานโดดเด่นด้านการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน
โครงการ PEA รักษ์น้ำ สร้างฝาย เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ทำอาชีพเกษตรกรรมและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมรอบชุมชน PEA จึงได้สร้างฝายชะลอน้ำโดยใช้วัสดุคอนกรีตที่ชำรุดจากการดำเนินงานของ PEA เช่น เสาไฟฟ้า เสาตอม่อ คอน มาใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ด้วยการนำไปเป็นวัสดุก่อสร้างฝาย ช่วยชะลอการไหลของน้ำในฤดูฝน และช่วยเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง อีกทั้งฝายยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ
บรรลุพันธกิจของ UN SDGs 3 เป้าหมาย ได้แก่
- เป้าหมายที่ 1 : ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่
- เป้าหมายที่ 12 : การสร้างหลักประกันถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
- เป้าหมายที่ 15 : พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและใส่ใจการดูแลสิ่งแวดล้อมให้สมดุล คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปกป้อง อนุรักษ์ และฟื้นฟูธรรมชาติ การควบคุมมลพิษและของเสีย การลงทุนสีเขียวและงานสีเขียว ตลอดจนการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยมีความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนเป็นเป้าหมาย
สำหรับโครงการด้านเศรษฐกิจสีเขียวของ PEA ได้แก่
- โครงการสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทย (Ministry of Interior : MOI) เป็นโครงการสนับสนุนโครงการของกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นต้นสังกัด ด้วยการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการ PEA Community Mall โครงการ PEA Go Green ปลูกสมุนไพร โครงการ PEA จิตอาสาพัฒนาลำน้ำ ลำคลอง โครงการตลาดนัดชุมชนปลอดภัยใช้ไฟ PEA และโครงการจัดทำของที่ระลึก 130 ปี กระทรวงมหาดไทย
- โครงการ PEA ปลูก ดูแล รักษ์ป่า การปลูกป่าร่วมกับชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบของ PEA เพื่อทดแทนพื้นที่ขยายเขตระบบไฟฟ้าของ PEA และฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้เป็นพื้นที่สีเขียว ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการรักษาพันธุ์ไม้หายาก
- โครงการพัฒนาสำนักงาน PEA ให้เป็นสำนักงานสีเขียว บูรณาการองค์กรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ด้วยการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม จริงจังในการแก้ปัญหา
- โครงการพัฒนาประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency – EE) เป็นการบ่งชี้กระบวนการที่เป็นสาเหตุสำคัญของผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสร้างสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจและปกป้องรักษาระบบนิเวศไปพร้อม ๆ กัน
การพัฒนาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันควรต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economic Model)
บรรลุพันธกิจของ UN SDGs 6 เป้าหมาย ได้แก่
- เป้าหมายที่ 9 : สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
- เป้าหมายที่ 11 : ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน
- เป้าหมายที่ 12 : การสร้างหลักประกันถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
- เป้าหมายที่ 13 : ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
- เป้าหมายที่ 15 : พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
- เป้าหมายที่ 17 : เสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฎิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
Cover Photo: Freepix