Grid Brief

  • อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่เกิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง ทั้งไฟดับและแรงดันไฟฟ้าตกติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุมและช่วงที่เกิดภัยพิบัติจากพายุและไฟป่า
  • ด้วยสภาพภูมิประเทศของ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ที่ล้อมรอบด้วยป่าไม้ ภูเขา และอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จึงเป็นอุปสรรคในการปักเสาพาดสายของ PEA
  • PEA ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ (BESS) ขนาด 3MW/4MWh ที่สามารถรองรับการจ่ายไฟในพื้นที่ทั้งตัวเมืองพร้าวได้เพื่อแก้ปัญหาไฟฟ้าขัดข้องในพื้นที่

อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ห่างไกลจากแหล่งจ่ายไฟฟ้า (Substation) และเกิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง ทั้งไฟดับและแรงดันไฟฟ้าตกติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ ในปี 2561 ถึงปี 2564 เกิดปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้องจำนวน 302 ครั้ง และมีระยะเวลาไฟฟ้าดับเฉลี่ย 2,944 นาทีต่อปี หรือ 49 ชั่วโมงต่อปี เนื่องจากไม่มีแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ ต้องรับกระแสไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้านอกพื้นที่ ซึ่งอาจไม่มีเสถียรภาพที่ดี รวมทั้งจากสาเหตุอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฤดูมรสุม พายุ ไฟป่า 

ความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ส่วนราชการ  และผู้นำชุมชน ต้องหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยการนำร่องการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานเพื่อแก้ปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้องในพื้นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

ทำไม อ.พร้าว ถึงไฟฟ้าขัดข้องติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ

‘พร้าว’ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีความโดดเด่นด้านทัศนียภาพอันสวยงาม มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้และขุนเขาในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม เพราะดินดีมีแร่ธาตุ จึงเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ได้รับความนิยมจากนักเดินทาง เช่น วัดดอยแม่ปั๋ง วัดถ้ำดอกคำ น้ำตกวังชมภู น้ำพุร้อน อ่างเก็บน้ำแม่แพง อ่างเก็บน้ำแม่โก๋น พระธาตุม่วงเนิ้ง เป็นต้น 

ทว่า ในอีกมุมหนึ่งด้วยลักษณะภูมิประเทศนี้ กลับเป็นอุปสรรคในการปักเสาพาดสายเพื่อขยายเขตระบบส่งไฟฟ้าของ PEA ทำให้ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ไม่มีแหล่งจ่ายไฟในพื้นที่ ต้องรับกระแสไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้านอกพื้นที่ที่อาจมีเสถียรภาพที่ไม่ดี รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ เช่น ฤดูมรสุม พายุ ไฟป่า เป็นสาเหตุให้เกิดไฟฟ้าขัดข้องติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของ อ.พร้าว 

แผนนำร่องของ PEA

PEA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบไฟฟ้าในพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าในสภาวะฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับในพื้นที่ โดยมุ่งมั่นให้บริการพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน สำหรับกรณีของ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ มีการศึกษาความเหมาะสมของแผนงานนำร่องการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานเพื่อแก้ปัญหานี้โดยมีทางเลือกในการแก้ปัญหา 5 วิธี ดังนี้

1.ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าพร้อมสายส่ง 115 kV

2.ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าพร้อมสายส่ง 115 kV

3.ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ และสถานีไฟฟ้าพร้อมสายส่ง 115 kV

4.ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และก่อสร้างระบบจำหน่าย 22 kV

5.ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ และก่อสร้างระบบจำหน่าย 22 kV

ทั้งนี้ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ มีความต้องการไฟฟ้าทั้ง อ.พร้าว 5.58 MW และในตัวเมืองพร้าวมีความต้องการไฟฟ้า 1.88 MW ซึ่งพลังงานไฟฟ้าจากระบบกักเก็บพลังงานสามารถรองรับการจ่ายไฟในพื้นที่ ในสภาวะฉุกเฉินได้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง ที่ความต้องการไฟฟ้า 3 MW และรองรับเหตุการณ์ไฟฟ้าดับกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

รู้จักระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่

ระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และเชื่อถือได้ ด้วยการนำแบตเตอรี่มาเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบ ทำหน้าที่กักเก็บพลังงานส่วนเกินจากระบบส่ง โดยการกักเก็บประจุไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำเพื่อนำมาใช้จ่ายไฟในช่วงเวลาที่ต้องการ และยังเป็นการช่วยลดปัญหาความไม่สม่ำเสมอของการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 

ระบบ BESS จะช่วยลดความผันผวนของกระแสไฟฟ้าและทำให้ระบบสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้มั่นคงและต่อเนื่องยิ่งขึ้น เปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ ระบบ BESS จะทำหน้าที่เสมือนเป็น Power Bank ที่กักเก็บพลังงานส่วนเกินจากระบบส่งเอาไว้นั่นเอง

นอกจากนี้ ระบบ BESS ซึ่งมีขนาดเท่าตู้คอนเทนเนอร์ จึงใช้พื้นที่ไม่มากในการติดตั้ง อีกทั้งยังสามารถขนส่งได้ง่าย ใช้งานสะดวก หากมีความต้องการจ่ายไฟฟ้ายาวนานมากขึ้น ก็สามารถติดตั้งเพิ่มได้ตามที่ต้องการ

PEA ตัดสินใจแก้ปัญหาไฟฟ้าขัดข้องในพื้นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ด้วยการติดตั้งระบบ BESS เพราะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่รวดเร็วที่สุดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนโดยติดตั้งระบบ BESS ขนาด 3MW/4MWh สามารถรองรับการจ่ายไฟในพื้นที่ทั้งตัวเมืองพร้าวได้มากกว่า 2 ชั่วโมง สอดคล้องกับสถิติไฟฟ้าดับที่เคยเกิดขึ้น

ประโยชน์ของระบบกักเก็บพลังงาน หรือ BESS

ระบบ BESS ยังมีฟังก์ชัน Voltage Regulation ช่วยรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าในพื้นที่ให้อยู่ในมาตรฐานการให้บริการ พร้อมฟังก์ชัน Peak Shaving ที่ช่วยบริหารจัดการการจ่ายไฟตามความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับจากระบบ BESS มีดังนี้

1.ประโยชน์ต่อประชาชนกว่า 22,124 ครัวเรือน ได้ใช้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าดับเป็นระยะเวลานานในพื้นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

2.ประโยชน์ต่อ PEA ทำให้ระบบจำหน่ายของ PEA มีความมั่นคงในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการจ่ายกระแสไฟฟ้าในสภาวะฉุกเฉินของระบบจำหน่ายในพื้นที่ 

3. ประโยชน์ต่อประเทศ ให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างปกติ และยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบดั้งเดิมได้อีกด้วย

4.เป็นแผนงานต้นแบบในการพัฒนารูปแบบการแก้ปัญหาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ห่างไกลเพื่อขยายผลต่อพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต่อไป 

5.ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบ BESS ที่สามารถรองรับพลังงานทดแทนที่อาจจะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ และเพื่อใช้เป็นแผนงานต้นแบบเพื่อขยายผลต่อพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต่อไป

เมื่อระบบ BESS ติดตั้งแล้วเสร็จในพื้นที่ จะทำให้ PEA สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่แบบแยกตัวอิสระ (Islanding) โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบไฟฟ้าหลักซึ่งมีระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร รวมถึงยังใช้ขยายผลการใช้งานเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบการแก้ปัญหาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ห่างไกลได้ในอนาคต เพื่อให้มีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน