Grid Brief
- รู้จักเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่สามารถตอบสนองการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าได้อย่างอัจฉริยะและคุ้มค่า สมาร์ทกริด และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน (Stakeholder) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ PEA ดำเนินธุรกิจและเติบโตอย่างยั่งยืน
พลังงานไฟฟ้านับเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและมีแนวโน้มความต้องการใช้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายความเจริญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ รวมไปถึงเทรนด์โลกที่รณรงค์ให้ใส่ใจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อาทิ การสนับสนุนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์พลังงานสันดาป เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จึงต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยการพัฒนาสู่ “ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ” หรือ สมาร์ทกริด (Smart Grid) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ไฟฟ้า และควบคุมการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มารู้จักเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับสมาร์ทกริด และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน (Stakeholder) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ PEA ดำเนินธุรกิจและเติบโตอย่างยั่งยืน
รู้จักกับไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)
สมาร์ทกริด (Smart Grid) คือ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่สามารถตอบสนองการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าได้อย่างอัจฉริยะและคุ้มค่า เป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งเทคโนโลยีย่อย ๆ อีกหลายส่วนมาบริหารจัดการห่วงโซ่ของระบบไฟฟ้าทั้งหมด ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า ส่ง จ่าย ไปจนถึงการใช้พลังงานของผู้บริโภคโดยผ่านมิเตอร์อัจฉริยะ (Smart Meter) ทำให้เป็นระบบไฟฟ้าที่ใช้ทรัพยากรน้อยแต่มีประสิทธิภาพสูง เชื่อถือได้ ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นระบบไฟฟ้าที่รองรับการขยายตัวของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวนและไม่แน่นอน
อันที่จริง สมาร์ทกริดไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในต่างประเทศเริ่มศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาตั้งแต่ยุคอนาล็อกแล้ว แต่ปัจจัยที่ทำให้สมาร์ทกริดเกิดขึ้นและมีการใช้งานได้จริงในปัจจุบัน เป็นเพราะความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี รวมทั้งแนวโน้มธุรกิจไฟฟ้าของโลกที่ต่างเบนเข็มไปที่การใช้พลังงานสะอาดจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวภาพอื่น ๆ ซึ่งสมาร์ทกริดเป็นระบบไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ
หลักการทำงานของสมาร์ทกริด
- ทิศทางการไหลของกระแสไฟฟ้าเป็นแบบสองทิศทาง ต่างจากระบบไฟฟ้าเดิมที่เป็นทิศทางเดียว จึงสามารถบริหารจัดการและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ระบบสื่อสารสารสนเทศ ระบบเก็บข้อมูล ระบบเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ขนาดใหญ่
- เป็นระบบที่สามารถประเมินศักยภาพของแหล่งผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีความหลากหลายได้เป็นอย่างดี ทั้งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานฟอสซิล ทำให้สามารถสั่งการผลิตไฟฟ้าได้สอดคล้องกับปริมาณการใช้ของผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาได้
- รองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วไปได้
- รองรับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
- เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวันของตนเอง
สมาร์ทกริด (Smart Grid) คือ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่สามารถตอบสนองการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าได้อย่างอัจฉริยะและคุ้มค่า เป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งเทคโนโลยีย่อย ๆ อีกหลายส่วนมาบริหารจัดการห่วงโซ่ของระบบไฟฟ้าทั้งหมด
บทบาทของ PEA ต่อการผลักดันสมาร์ทกริดในไทย
ในปี 2570 PEA ตั้งเป้าการเป็นผู้นำธุรกิจด้านไฟฟ้าทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค ซึ่งการเตรียมพร้อมด้านระบบไฟฟ้าในประเทศ ทั้งการกระจายไฟฟ้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และการพัฒนาระบบไฟฟ้าในประเทศให้มีประสิทธิภาพ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพาไปถึงฝั่งฝัน
PEA จึงกำหนดทิศทางโครงข่ายสมาร์ทกริด โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้สอดรับตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย (พ.ศ. 2558-2579) และทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งได้ดำเนินแผนงานและโครงการนำร่องต่าง ๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาโครงข่ายสมาร์ทกริดในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไมโครกริด อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไมโครกริด อ.เบตง จ.สงขลา โครงการติดตั้งระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (AMI) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ครอบคลุมทั่วประเทศ และโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไมโครกริด เกาะพะลวย จ.สุราษฎร์ธานี
ไฟฟ้าทั่วถึง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี
PEA ดำเนินการด้านสมาร์ทกริดในหัวเมืองใหญ่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจหลักของประเทศ และพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลความเจริญ เพื่อเป็นโครงการนำร่องสำหรับประเมินและขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ การดำเนินการด้านสมาร์ทกริดในพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชนบทของประเทศ ยังเป็นอีกหนึ่งพันธกิจที่ PEA มุ่งมั่นในการขยายเขตไฟฟ้า เพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่สังคมชนบท คุณภาพชีวิตและช่วยเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ทำกินทางการเกษตรจากการใช้ไฟฟ้า
ทั้งนี้ PEA ดำเนินโครงการขยายเขตไฟฟ้าระบบจำหน่ายไฟฟ้าและติดตั้งมิเตอร์ให้กับเกษตรกรให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร (คขก) ในทุกภูมิภาคของประเทศไทยเพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ทำกินการเกษตร โดยแบ่งระยะเวลาดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ แต่ละระยะใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี
ตลอดการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมาของ PEA ตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะเติบโตไปกับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน (Stakeholder) โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานที่ตอบสนองความต้องการ ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นระบบสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
PEA พลังงานสะอาดเพื่อชุมชน
แม้ว่าปัจจุบัน PEA ให้บริการด้านไฟฟ้าแก่ประชาชนทั่วประเทศคิดเป็น 99.97 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังคงมีพื้นที่ไม่สามารถขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าได้ เนื่องจากติดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ หรือเป็นพื้นที่หวงห้ามของทางราชการ เป็นต้น
PEA เล็งเห็นความสำคัญของการมีไฟฟ้าเพื่อใช้ดำรงชีพในทุกครัวเรือน ควบคู่ไปกับคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจึงนำพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสูง ไม่มีวันหมดไป รวมทั้งสามารถผลิตได้ทุกพื้นที่บนโลกตราบใดที่มีแสงอาทิตย์ส่องถึง มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อให้ชุมชนที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ได้ดำเนินการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในหลายชุมชน ผ่านโครงการ “PEA พลังงานสะอาดเพื่อชุมชน”
โครงการขยายเขตไฟฟ้าให้บ้านเรือนในชนบท
อีกหนึ่งพันธกิจของ PEA ในการขยายเขตไฟฟ้าให้ทั่วถึง และครอบคลุมทั่วไทย นั่นคือ โครงการขยายเขตระบบไฟฟ้าให้บ้านเรือนราษฎรรายใหม่ ระยะที่ 2 (คฟม.2) นับเป็นภารกิจต่อเนื่องที่ท้าทาย ด้วยจำนวนบ้านเรือนราษฎรรายใหม่ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี และการทำงานที่ต้องตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทยที่ต้องการให้ประชาชนทั่วประเทศมีไฟฟ้าใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและกระจายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่ทุกภูมิภาค
จากเดิมผู้ขอใช้ไฟฟ้ารายใหม่ยื่นเรื่องขอใช้ไฟฟ้าที่สำนักงานการไฟฟ้าใกล้บ้าน หากมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินวงเงินสนับสนุนของ PEA ผู้ขอใช้ไฟฟ้าต้องรับผิดชอบเองแต่นับจากนี้โครงการขยายเขตไฟฟ้าให้บ้านเรือนราษฎรรายใหม่ ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหม่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขยายเขตไฟฟ้าอีกต่อไป ซึ่ง PEA ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 141,960 ครัวเรือน โดยจัดทำแผนงานนำร่องขยายเขตไฟฟ้าให้บ้านเรือนที่ไม่มีไฟฟ้า โดยใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 5 หมู่บ้าน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
PEA มุ่งมั่นด้านความยั่งยืน และเป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (STAKEHOLDER)
ตลอดการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมาของ PEA ตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะเติบโตไปกับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน (Stakeholder) โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานที่ตอบสนองความต้องการ ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นระบบสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การเคารพสิทธิและปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อลดผลกระทบอย่างรอบด้านในทุกขั้นตอนการปฏิบัติงาน สร้างความเชื่อมั่น และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเหมาะสม อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสู่การเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน