ได้เห็นผลงานภาพถ่าย “หลอดระเบิด” ของ “น้องม้ง” แห่งศูนย์ฝึกปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ก็เลยอยากจะนำเอาวิธีการถ่ายภาพเจ๋งๆ ของน้อง มาแบ่งปันให้พี่น้องทุกท่านได้ศึกษา เผื่อจะนำไปทดลองถ่ายภาพแนวนี้กันบ้าง เพราะไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษใดๆ เลย นอกจากกล้องกับแฟลช (เก่าๆ) ตัวเดียวเท่านั้น
น้องเล่าว่า “แรกเริ่มเลยได้พูดคุยกับลูกค้าที่แวะเวียนมาดื่มกาแฟที่ร้าน (Atelier Café) ที่มีความชื่นชอบการถ่ายภาพเหมือนกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้หลายๆ เรื่อง ซึ่งทางลูกค้ามาปรึกษาว่า รูปภาพที่เขาถ่ายหลอดไฟระเบิดกันมันต้องใช้อุปกรณ์เยอะ และ มีราคาแพง ผมเลยอธิบายให้เขาฟังว่า ผมแทบไม่ได้ใช้อะไรพิเศษเลย แต่ด้วยความที่เขาไม่เข้าใจก็เลยต้องสาธิตให้ดู”
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทั้งกล้อง และ แฟลชต่างก็มีความเร็วในการทำงานของตัวมันเอง เช่น กล้องมีความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed) ที่เราสามารถตั้งได้ เป็นตัวกำหนดช่วงเวลาที่จะเปิดรับแสงเพื่อบันทึกภาพ แฟลชก็มี Flash Duration หรือ Duration Time ซึ่งก็คือช่วงที่แสงไฟแฟลชเริ่มต้นสว่างจนถึงดับสนิท เป็นช่วงเวลาเศษเสี้ยววินาที ซึ่งสองอย่างนี้จะเริ่มทำงานพร้อมกันเมื่อเรากดชัตเตอร์ แต่ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปตามที่เราตั้งค่า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราตั้งความเร็วชัตเตอร์ของกล้อง 1 วินาที โดยที่ไม่มีแสงอื่นใดอยู่ในซีนนั้น (อยู่ในสถานที่ที่มืดสนิท) แล้วเราเปิดใช้แฟลช ซึ่งมี Flash Duration ที่ 1/2000 วินาที เราก็จะสามารถบันทึกภาพจากแสงแฟลชด้วยความเร็วเท่านั้นได้ เช่น คนกระโดด หรือน้ำที่กำลังหยดลงในอ่าง ภาพก็จะชัด ไม่เบลอ เพราะแสงที่วาบออกมาจากแฟลช มีช่วงเวลาสั้นมากเพียง 1/2000 วินาทีเท่านั้น เปรียบได้กับเราถ่ายภาพที่ความเร็วชัตเตอร์ 1/2000 วินาทีนั่นเอง
การถ่ายภาพนี้ น้องม้งใช้กล้อง Nikon D5000 อายุกว่า 10 ปี ติดบนขาตั้งกล้อง ใช้เลนส์ AF Zoom-Nikkor 28-85mm f/3.5~4.5 ซูมไปที่ 85 มม. ร่วมกับแฟลช Nikon SB-800 ติดบนขาตั้งเช่นกัน สั่งการโดยใช้ Flash Trigger แบบไร้สาย และแผ่นสะท้อนแสงวงกลม เพื่อให้แสงที่ค่อนข้างกว้างและใกล้ ตั้งความสว่างของแฟลชแบบแมนนวลไปที่เบาสุด ซึ่งเราจะได้ความไวแฟลชที่เร็วที่สุด ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/200 วินาที ตั้งความไวแสงที่ ISO 400 รู้รับแสง f/7.1 หรือลองทดสอบถ่ายให้เห็นแค่ไส้หลอดที่สว่างเล็กน้อยก็พอ
ส่วนวิธีการทำให้หลอดไฟระเบิดนี้ น้องใช้ปืนลม BB Gun ยิงเข้าไปที่หลอดไฟ โดยจะต้องลั่นชัตเตอร์ให้ตรงกับการลั่นไกปืน หรือในกรณีที่ตั้ง Self-timer ก็ต้องกะเวลาลั่นไกปืนอัดลมให้ตรงจังหวะ แน่นอนว่าเราไม่สามารถถ่ายภาพที่สมบูรณ์แบบได้ในช็อตเดียว การถ่ายในวันนั้น น้องต้องเก็บกวาดเศษซากหลอดไฟที่แตกละเอียดไปถึง 8 หลอด ท่านที่อยากจะทดลองถ่ายดูบ้าง ก็ต้องวางแผนจัดเตรียมอุปกรณ์และสถานที่ให้พร้อม และออกไปหาซื้อหลอดไส้ตุนไว้สักโหลนะครับ
ข้อควรระวัง: ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญมาก ช่างภาพและผู้ช่วยจะต้องใส่แว่นตาเซฟตี้ ถุงมืออย่างหนา (เพื่อใช้หมุนหลอดไฟที่แตกแล้วออกมา) เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และรองเท้าผ้าใบ เพื่อป้องกันอันตรายจากเศษหลอดไฟที่แตกละเอียด
เรียบเรียงโดย: จุลล์ จูงวงศ์
ภาพโดย: ว่าที่ ร.ต. อาทิติ โคเลิศ