Grid Brief

  • Exeger สตาร์ตอัปในสวีเดนพัฒนา ‘Powerfoyle’ (พาวเวอร์ฟอยล์) โซลาร์เซลล์แบบแผ่นที่ผลิตไฟฟ้าได้ทั้งกลางแจ้งและในที่ร่ม โดยใช้แสงได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่แสงอาทิตย์ แสงจันทร์ หรือแม้แต่แสงเทียน
  • พาวเวอร์ฟอยล์ใช้เทคโนโลยี ‘Dye-sensitized Solar Cells’ เลียนแบบการสังเคราะห์แสงของพืช โดยแทนที่คลอโรฟิลล์ด้วย ‘สี’ ที่ดูดพลังงานแสง และไปกระตุ้นโมเลกุลให้เป็นสถานะที่มีพลังงานสูงถึง 1,000 เท่า
  • พาวเวอร์ฟอยล์สามารถผลิตให้อยู่ในรูปร่างลักษณะใดก็ได้ เช่น คล้ายกับโลหะขัดมัน หนัง คาร์บอนไฟเบอร์ ไม้ มีความบาง ยืดหยุ่น คงทน กันน้ำ กันฝุ่นและกันกระแทกได้ จึงได้รับความสนใจจากแบรนด์ผู้ผลิตแก็ดเจ็ตต่าง ๆ

ทุก 6 วินาที เครื่องพิมพ์ในโรงงานทางตอนเหนือของกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน จะพ่นแผ่นชีทบาง ๆ ที่สนนราคาแผ่นละหลายพันยูโรออกมา แต่ละแผ่นประกอบไปด้วยโซลาร์เซลล์ขนาดจิ๋ว 108 ชิ้นที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอาจไปอยู่ในแก็ดเจ็ตทุกชิ้นในโลก ตั้งแต่คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ หูฟัง ไปจนถึงสมาร์ตโฟน อีกทั้งจะเปลี่ยนมุมมองของมนุษยชาติต่อเทคโนโลยีและ ‘แสง’ ในฐานะแหล่งพลังงานสำคัญ 

Giovanni Fili ผู้ร่วมก่อตั้ง Exeger สตาร์ตอัปในสวีเดนพัฒนา ‘Powerfoyle’ (พาวเวอร์ฟอยล์) โซลาร์เซลล์แบบแผ่นที่ผลิตไฟฟ้าได้ทั้งกลางแจ้งและในที่ร่ม โดยใช้แสงได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่แสงอาทิตย์ แสงจันทร์ หรือแม้แต่แสงเทียน เขาได้แรงบันดาลใจจากสวีเดน ประเทศของตนที่แทบหาแสงแดดไม่เจอในฤดูหนาวอันยาวนาน   

พาวเวอร์ฟอยล์ใช้เทคโนโลยี ‘Dye-sensitized Solar Cells’ เลียนแบบการสังเคราะห์แสงของพืช โดยแทนที่คลอโรฟิลล์ด้วย ‘สี’ ที่ดูดพลังงานแสง และจะไปกระตุ้นโมเลกุลให้เป็นสถานะที่มีพลังงานสูงขึ้นถึง 1,000 เท่า 

พาวเวอร์ฟอยล์สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองในตัว จึงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่โลกมีอุปกรณ์ไฟฟ้าเคลื่อนที่ที่เชื่อมต่อกับแหล่งพลังงานได้โดยตรง ดังที่เห็นในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆที่ ใช้พาวเวอร์ฟอยล์ เช่น หูฟังไวร์เลส adidas RPT-02 SOL หูฟัง Urbanista Phoenix หรือลำโพงพกพา Urbanista Malibu 

นั่นเป็นเพราะพาวเวอร์ฟอยล์สามารถทำให้มีรูปลักษณ์คล้ายกับวัสดุที่ใช้กันในท้องตลาดอยู่แล้ว เช่น โลหะขัดมัน หนัง คาร์บอนไฟเบอร์ หรือแม้แต่ไม้ มีความบาง ยืดหยุ่น คงทน กันน้ำ กันฝุ่นและกันกระแทกได้ด้วย ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยให้พาวเวอร์ฟอยล์ได้รับความสนใจจากบริษัทและแบรนด์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งช่วยให้ผลิตในเชิงพาณิชย์และมีราคาที่จับต้องได้ 

โซลาร์เซลล์ ‘พาวเวอร์ฟอยล์’ ต่างไปจากโซลาร์เซลล์ทั่วไปที่มีพื้นผิวเป็นกระจก และยังกำจัดเส้นสีเงินที่ลากไปบนแผ่นโซลาร์เซลล์เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวนำไฟฟ้า แม้อยู่ในที่ร่มหรือมีแสงน้อยก็ไม่กระทบอะไร แต่หากเป็นโซลาร์เซลล์ทั่วไปที่เป็นแบบ PV (Photovoltaic) Cell ซึ่งประสิทธิภาพจะลดลงมากหากเจอแสงน้อยหรือเงาร่ม 

โรงงานของ Exeger มีกำลังการผลิตพาวเวอร์ฟอยล์ได้ปีละ 2.5 ตารางเมตรต่อปี จึงทะยานขึ้นเป็นโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ใหญ่ที่สุดในยุโรป  

พาวเวอร์ฟอลย์อาจเป็นโซลาร์เซลล์เปลี่ยนโลก และอาจปิดยุคสมัยการใช้แบตเตอรี่เลยก็ว่าได้หากอุปกรณ์ไฟฟ้านับล้านชิ้นทั่วโลกไม่ต้องพึ่งพาแบตเตอรี่อีกแล้ว เพราะลำพังแต่รีโมตทีวีก็สร้างขยะแบตเตอรี่ปีละ 3,100 ล้านชิ้นต่อปี ไม่แน่ว่าภายในปี 2593 ทีวีอาจผลิตไฟฟ้าได้เองจากพื้นผิวที่ทำจากพาวเวอร์ฟอยล์ก็เป็นได้  

นอกจากจะทำให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดต่อ ‘แสง’ ในฐานะแหล่งพลังงานหมุนเวียนสำคัญต่อชีวิตแล้ว ผู้ผลิตพาวเวอร์ฟอยล์ยังพยากรณ์ด้วยว่า ยุคหลาน ๆ อาจนึกภาพไม่ออกว่าคนรุ่นเราเคยใช้สิ่งดึกดำบรรพ์ที่เรียกว่า ‘แบตเตอรี่’ หรือ ‘แผงโซลาร์เซลล์’ ก็เป็นได้