Grid Brief

  • เงินสำรองฉุกเฉินคือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ทุกคนจึงควรสำรวจดูว่าคุณมีเงินเก็บในจำนวนเหมาะสมสำหรับเงินส่วนนี้แล้วหรือยัง ถ้ายังควรเริ่มสำรวจรายจ่ายและหาทางเพิ่มรายได้กันได้แล้ว

ต้องขอบคุณโรคโควิด-19 ที่ทำให้หลายคนเริ่มเห็นความสำคัญของ “เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน” ว่าจำเป็นสำหรับสถานการณ์ไม่ปกติอย่างไรบ้าง

เพราะวิกฤตไม่เคยบอกเวลาที่แน่นอน

ขึ้นชื่อว่าเป็นวิกฤต คือสถานการณ์ที่ไม่ปกติ โดยมากมักจะไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ทั้งการเกิดและการสิ้นสุดของวิกฤตนั้น การเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอย่อมเป็นผลดีกับคนที่ได้เตรียมตัววิธีการหนึ่งที่ช่วยให้คุณปรับตัวเข้ากับวิกฤตนั้นได้ดีก็คือ การมีเงินสำรองฉุกเฉินที่เก็บไว้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดเหล่านี้

หมอใช้หูฟังฟังหมูออมสิน

เช็กเงินสำรองฉุกเฉินระยะปลอดภัย

สูตรในการตรวจสอบเงินสำรองฉุกเฉินที่เหมาะสมสำหรับคุณ คือ ค่าใช้จ่าย x 6 = จำนวนเงินสำรองฉุกเฉินที่ควรมี โดยเริ่มจากจดรายการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงทุกอย่างในแต่ละเดือน ทั้งของกิน ของใช้ ค่าน้ำมัน ค่าที่อยู่อาศัยค่าผ่อนรถ ฯลฯ ถ้าคุณเป็นพนักงานที่มีเงินเดือนหรือมีรายได้ประจำที่แน่นอนให้คูณด้วย 6 ที่มาจากจำนวนเดือนที่เป็นระยะเวลาให้คุณตั้งหลักได้ หากต้องออกจากงาน หรือมีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล แต่ถ้าคุณมีอาชีพอิสระที่รายได้ไม่แน่นอน ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่า จึงควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่งของคนที่มีรายได้ประจำ ด้วยการคูณ 12 เดือน

หาทางเติมรายได้

ถ้ายอดเงินสำรองฉุกเฉินของคุณยังไม่เข้าเป้า เบื้องต้นคุณควรเจรจาขอพักชำระเงินกู้ต่างๆ ทั้งการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าบัตรเครดิต ฯลฯ ในระยะสั้น 3 – 6 เดือน รวมถึงการขอปรับลดดอกเบี้ยด้วย เพราะหากคุณยังมีรายจ่ายในแต่ละเดือนเท่าเดิม เท่ากับชีวิตคุณยังมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอยู่ จากนั้นให้หาทางเพิ่มรายได้ในแนวทางที่คุณถนัด เช่น การขายของออนไลน์ รับจ้างทำงานเสริมตามทักษะที่คุณมี ฯลฯ ช่วยอีกทางหนึ่ง

ภาพวาดครอบครัวพ่อแม่ลูกยืนเรียงหน้ากระดานจับมือกัน ด้านหนึ่งเป็นรถยนต์ อีกด้านเป็นบ้าน

อย่ามองแค่ตัวเอง

ไม่ว่าคุณจะโสดหรือมีครอบครัว การคำนวณเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินนั้น ต้องมองถึงรายได้และรายจ่ายให้ละเอียด โดยเฉพาะรายจ่ายที่มาจากหน้าที่ความรับผิดชอบที่นอกเหนือจากการดูแลตัวเอง เช่น คนโสดด้วยที่อาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลบุพการี หรือคนมีครอบครัวที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลสมาชิกในครอบครัว เช่น ค่าเล่าเรียนลูก ค่าใช้จ่ายจุกจิกในบ้าน เป็นต้น

ฉุกเฉินในระยะยาว

ถึงแม้ว่าจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปแล้ว คุณก็ยังควรจะต้องให้ความสำคัญกับการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินอยู่เสมอ เพราะเราไม่อาจหยั่งรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้ ฉะนั้น ทางที่ดีต้องหมั่นตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือนว่า คุณมีเงินฉุกเฉินอยู่ในระยะปลอดภัยได้อีก 6 เดือน หรือ 12 เดือนหรือไม่ เพื่อเป็นการไม่ประมาทกับการใช้ชีวิต และ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตไหนมาเยือนอีก คุณก็จะรับมือได้เสมอ

Cover Illustration โดย ANMOM