สิงคโปร์เป็นประเทศเพื่อนบ้านอีกประเทศชั้นแนวหน้าในภาคอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีระดับโลก ข้อมูลจาก The Business Times ระบุว่า สิงคโปร์เป็น 1 ใน 5 ศูนย์กลางด้านการกลั่นน้ำมันเพื่อส่งออกของโลกและส่งออกเคมีภัณฑ์สูงสุดเป็นอันดับ 8 ของโลกอีกด้วย

ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานโลกในระยะยาว สิงคโปร์ได้วางนโยบาย Singapore Green Plan สำหรับแผนลดการพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ และเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียวในอนาคตไว้อย่างเป็นรูปธรรม

โดยคาดการณ์สัดส่วนพลังงานในปี 2578 ของสิงคโปร์จะแบ่งเป็น พลังงานจากก๊าซธรรมชาติร้อยละ 50 พลังงานหมุนเวียนจากการนำเข้าร้อยละ 30 และพลังงานจากแหล่งอื่น ๆ ร้อยละ 20 ซึ่งโครงการนำเข้าพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ ณ ปี 2566 ได้แก่ ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 2 กิกะวัตต์จากอินโดนีเซีย ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลมจำนวน 1 กิกะวัตต์จากกัมพูชา รวมถึงไฟฟ้าพลังงานลมจำนวน 1.2 กิกะวัตต์จากเวียดนาม

ต่อจากนี้ทางเลือกในการพัฒนาพลังงานสีเขียวของสิงคโปร์ แบ่งออกได้เป็นหลายรูปแบบ อาทิ
(1) พลังงานจากแสงอาทิตย์โดยใช้ระบบโซลาร์เซลล์
(2) พลังงานจากขยะในประเทศ
(3) พลังงานจากความร้อนใต้พิภพ
(4) พลังงานไฮโดรเจน หากมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

ภายในปี 2573 การท่าเรือแห่งสิงคโปร์จะบังคับใช้ประกาศให้เรือในน่านน้ำสิงคโปร์ต้องเป็นเรือไฟฟ้า หรือต้องไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกต่อไป ด้านสมาคมสายการบินในเอเชียแปซิฟิกก็ได้ประกาศตั้งเป้าหมายการใช้เชื้อเพลิงแบบยั่งยืนในกลุ่มสายการบินสมาชิกที่ร้อยละ 5 ภายในปี 2573 เพื่อเป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้ผู้ผลิตเชื้อเพลิงแบบยั่งยืน นอกจากนี้ กลุ่มท่าอากาศยานชางงี ก็ได้ริเริ่มโครงการการชดเชยคาร์บอนในปี 2566 โดยเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินเลือกชำระเงินเพื่อชดเชยคาร์บอนที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจากเที่ยวบินของตน โดยจำนวนเงินที่ได้จากโครงการดังกล่าวจะนำไปเป็นเงินทุนเพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อไป


รูปโดย www.greenplan.gov.sg