Grid Brief

  • ระบบชาร์จไฟอัจฉริยะ (Smart Charging) ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับมือกับการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบบนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการชาร์จไฟฟ้า และเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ใช้รถ EV และสถานีอัดประจุไฟฟ้า

การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle-EV) ยังคงเป็นกระแสนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้คนมองหายานพาหนะยุคใหม่ที่ไม่ ส่งผลกระทบต่อโลก ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในระยะยาว และดูแลรักษาง่าย แต่อีกด้านของเหรียญ ความนิยมในรถ EV ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดความท้าทายใหม่ ๆ เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับรถ EV เช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ใช้งาน และความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าตามมา 

ความกังวลว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะทำให้เกิดการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า เป็นที่มาของแนวคิดเรื่องระบบชาร์จไฟอัจฉริยะ (Smart Charging) เพื่อลดปัญหาพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงลดภาระด้านการลงทุนเพื่อปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้า หากทั้งโลกเต็มไปด้วยรถ EV บนท้องถนน

รู้จัก Smart Charging

ระบบชาร์จอัจฉริยะ (Smart Charging) เป็นระบบการชาร์จไฟฟ้าที่เชื่อมต่อข้อมูลกันระหว่างรถ EV สถานีอัดประจุไฟฟ้า และผู้ให้บริการ ซึ่งสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะติดตาม บริหาร จัดการ และควบคุมการใช้อุปกรณ์ชาร์จ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้พลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ ระบบชาร์จอัจฉริยะยังช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง (Peak) โดยเลี่ยงการชาร์จไฟของผู้ใช้รถ EV ไม่ให้ตรงกับช่วงเวลา Peak ของการใช้ไฟฟ้าด้านอื่น ๆ ทั้งยังทำให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น และช่วยประหยัดรายจ่ายของผู้ขับขี่ได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระบบชาร์จแบบปกติ


เทคโนโลยีการชาร์จแห่งอนาคต

เมื่อรถ EV ได้รับความนิยมมากขึ้น ระบบชาร์จอัจฉริยะก็สำคัญขึ้นเช่นกัน เพราะช่วยเอื้อให้การใช้งานรถ EV ขยายในวงกว้าง และลดต้นทุนในการปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้า (Grid) มีการประเมินว่า เฉพาะในยุโรปจะมีรถ EV ราว 65 ล้านคัน ภายในปี 2573 และเพิ่มเป็น 130 ล้านคัน ภายในปี 2578 หากไม่มีระบบชาร์จอัจฉริยะ เจ้าของรถ EV หลายล้านคันต้องชาร์จไฟช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นคือช่วงหลังเลิกงาน ซึ่งจะทำให้โครงข่ายการจ่ายไฟฟ้าทำงานหนักเกินไป อาจเกิดไฟฟ้าดับได้ 

Connected Kerb เป็นตัวอย่างหนึ่งของระบบชาร์จอัจฉริยะที่สามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน ซึ่งกำหนดความเร็วในการชาร์จ เวลาที่ใช้ และราคาที่อยู่ในระดับต่ำได้ โดยหากใช้โหมดการชาร์จแบบประหยัด จะจ่ายค่าไฟราว 26 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 2 ทิศทาง (Bidirectional) หรือยานยนต์กับระบบไฟฟ้า (Vehicle-to-Grid) ที่เจ้าของรถ EV สามารถขายพลังงานสำรองในแบตเตอรี่กลับเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก แต่ขณะนี้ยังมีรถจำนวนไม่มากที่รองรับเทคโนโลยีนี้

Credit: Freepik

ภาครัฐเอกชนมุ่งสนับสนุน

นอร์เวย์เป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกที่ผลักดันนโยบาย รถ EV และจากการสนับสนุนของรัฐบาลทำให้ปัจจุบันมีรถ EV 3 ใน 4 ของยอดขายรถใหม่ในกรุงออสโล ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงแห่งรถ EV ทั้งนี้ เนื่องจากสถานีไฟฟ้าย่อยบางส่วนของประเทศสร้างมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ถ้าต้องปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ จะเป็นการปรับระบบสายส่งไฟฟ้าครั้งใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณสูง ทำให้รถ EV ในนอร์เวย์จึงใช้ระบบชาร์จอัจฉริยะเป็นหลัก 

สำหรับเนเธอร์แลนด์มีการส่งเสริมการใช้รถ EV มากขึ้น โดยมีสัดส่วนรถ EV ราว 20% ของยอดขายรถใหม่ทั้งหมด ส่วนอังกฤษมีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าแบบที่ใช้แบตเตอรี่ 12% เมื่อปี 2564 Rightcharge บริษัทจัดการด้านการชาร์จแบตเตอรี่รถ EV ในอังกฤษ ประเมินว่า ระบบชาร์จอัจฉริยะจะช่วยให้ชาวอังกฤษประหยัดเงินได้ประมาณ 1 หมื่นล้านปอนด์ ภายในปี 2573 และตัวเลขนี้อาจเปลี่ยนไป หากยอดขายรถ EV เพิ่มขึ้น ทว่า แม้ในอังกฤษจะมีการใช้ระบบชาร์จอัจฉริยะแบบติดตั้งที่บ้านแพร่หลายขึ้น แต่ถือว่ายังมีจำนวนน้อยอยู่เมื่อเทียบกับจำนวน รถ EV ระบบชาร์จอัจฉริยะและเทคโนโลยีการชาร์จไฟฟ้า 2 ทิศทางจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เมื่อมีการใช้รถ EV มากขึ้น และถือว่าเป็นวิธีที่ดีกว่าการอัปเกรดสายส่งไฟฟ้าที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก  

ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันกรุงออสโลของนอร์เวย์จึงให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงการเทคโนโลยีการชาร์จไฟฟ้า 2 ทิศทาง ส่วนภาคเอกชนในประเทศต่าง ๆ ก็หันมาพัฒนาเรื่องนี้มากขึ้น อาทิ Nuvve Holding Corp ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ ที่ร่วมทุนกับ Stonepeak เพื่อให้เจ้าของรถสามารถขายพลังงานคืนไปยังโครงข่ายไฟฟ้าได้ ทั้งนี้ การที่รถ EV จะขายพลังงานกลับเข้าโครงข่ายไฟฟ้าได้อยู่ที่จิกซอว์สำคัญอีกชิ้นคือผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งยังไม่ผลิตรถ EV ที่จ่ายไฟคืนโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าได้ออกมามากนัก แต่ค่ายรถบางแห่งเริ่มดำเนินการแล้ว เช่น ฟอร์ด มอเตอร์ ที่จับมือกับผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ Sunrun Inc ทำให้รถปิกอัพ รุ่น F-150 Lightning สามารถจ่ายไฟจากแบตเตอรี่รถ EV ให้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้

Credit: Freepik

ตลาดรถ EV เติบโตมากอย่างต่อเนื่อง

ตลาดรถ EV ยังคงเติบโตต่อเนื่องทั่วโลก ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Canalys ระบุว่า ในปี 2564 ยอดขายรถ EV ทั่วโลกทั้งแบบแบตเตอรี่ล้วนและไฮบริดแบบเสียบปลั๊กอยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 109% จากปี 2563 ตลาดรถ EV เติบโตมากถึง 9% ของยอดขายรถทั้งหมด เมื่อเทียบกับตลาดรถยนต์ทั้งหมดที่ขยายตัวเพียง 4% ในปี 2564 หลังเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาขาดแคลนชิป 

ทั้งนี้ 85% ของรถ EV ที่ขายทั้งหมดในปี 2564 อยู่ในจีน และยุโรป โดยจีนมียอดขายรถ EV 3.2 ล้านคัน คิดเป็น 15% ของรถยนต์ใหม่ที่ขายได้ทั้งปี ส่วนในยุโรปมียอดขายรถ EV ที่ 2.3 ล้านคัน คิดเป็น 19% ของรถใหม่ที่ขายได้ทั้งหมด Canalys ประเมินว่า ตลาดรถ EV ยังคงมีโอกาสขยายได้ อีกมากในจีน ทั้งในปี 2565 และหลังจากนี้ เช่นเดียวกับตลาดรถ EV ในยุโรปที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยหลายประเทศในยุโรปมีสัดส่วนรถ EV มากกว่า 1 ใน 4 ของยอดขายรถยนต์ใหม่ แม้ลูกค้าจะต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะได้รับรถก็ตาม 

เมื่อโลกขับเคลื่อนเข้าสู่ยุครถ EV ระบบชาร์จอัจฉริยะ จึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์การใช้ยานยนต์รักษ์โลก ที่ไม่เป็นภาระกับโครงข่ายไฟฟ้า และช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าเจ้าของรถได้ด้วย