หลายประเทศเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าแบบเก่าซึ่งเป็นจานหมุน แล้วหันไปใช้มิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meter) ด้วยปัจจัยหลายประการ ยุโรปเปลี่ยนเพราะมีเป้าหมายว่าอยากใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ส่วนสหรัฐอเมริกาที่ประกอบไปด้วยมลรัฐขนาดใหญ่มากมาย เช่น เทกซัส ฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย ฯลฯ ก็สนใจนำมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะมาใช้ เพราะการส่งพนักงานไฟฟ้าไปอ่านและตรวจสภาพมิเตอร์ถึงบ้านผู้ใช้ไฟฟ้านั้น ทำให้สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ข้ามมาทางฝั่งทวีปเอเชียกันบ้าง หลังจากที่ญี่ปุ่นเจอเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะระเบิด ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้โครงข่ายอัจฉริยะ (Smart Grid) ซึ่งทนทานต่อภัยพิบัติธรรมชาติมากกว่า และมิเตอร์อัจฉริยะก็สามารถรองรับโครงข่ายนี้
ข้อดีของมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ ไม่เพียงรองรับโครงข่ายอัจฉริยะเท่านั้น ตัวมิเตอร์ยังสื่อสารกับศูนย์ควบคุมแบบไร้สายและแบบมีสายได้ และเมื่อมิเตอร์โดนงัดแงะก็จะแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมโดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกันผู้ใช้ไฟฟ้ายังอ่านค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ไปได้เองและสามารถติดต่อโดยตรงกับระบบควบคุมได้บ่อยเท่าที่ต้องการ โดยที่การไฟฟ้าไม่ต้องส่งพนักงานมาอ่านหน่วยไฟฟ้าทุกเดือนอีกต่อไป ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะคำนวณค่าไฟฟ้าเองได้ รู้ว่าใช้ไฟไปกี่หน่วยแล้ว และเมื่อผู้ใช้รู้ก่อนว่าถ้าใช้ไฟฟ้าเท่านี้ต้องจ่ายเท่าไหร่ ก็จะสามารถควบคุมการใช้ไฟฟ้าเกินความจำเป็นได้ สำหรับประเทศไทยนั้น PEA ได้ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะนำร่องที่เมืองพัทยา จำนวน 140,000 ครัวเรือน และมีโครงการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะให้กับจังหวัดอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต