Grid Brief

  • การพูดให้คนเข้าใจแนวคิดของคุณได้ คือหนึ่งใน ‘ซอฟต์สกิล’ ที่จำเป็น เพราะเป็นทักษะที่ AI ไม่อาจทดแทนได้ และจะทำให้คุณมีแนวร่วมในการทำงานมากขึ้น
  • เคล็ดลับการพูดให้ชนะใจคนฟังมี 4 ข้อ ได้แก่ เรียนรู้เรื่องที่จะพูดเป็นอย่างดี เสริมด้วยประสบการณ์ของตนเอง จดหัวข้อที่จะพูดแต่อย่าร่างทุกคำที่จะพูด และใส่เอนเนอร์จีบวกในการพูด

คุณคิดว่ามีคนจ่ายเงินเท่าไรเพื่อให้ได้พูดคุยระหว่างกินมื้อกลางวันกับ วอร์เรน บัฟเฟต (Warren Buffett) หนึ่งในคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก คำเฉลยคือ ‘19,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ’ หรือประมาณ 700 ล้านบาท 

นับเป็นมื้อเที่ยงที่แพงเป็นสถิติโลก ซึ่งเป็นการประมูลเพื่อนำรายได้สมทบทุน Glide Foundation องค์กรที่ต่อสู้เพื่อความยากจนและคนไร้บ้านในซานฟรานซิสโก และวอร์เรน บัฟเฟต มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเปิดให้คนประมูลมากินมื้อเที่ยงกับตนตั้งแต่ปี 2546-2565 ที่มีผู้ไม่ประสงค์ออกนามชนะการประมูลไป 19 ล้านเหรียญ   

Credit: Fortune Live Media

ในแต่ละปี วอร์เรน บัฟเฟตจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของ Berkshire Hathaway บริษัทที่เขานั่งเป็นท่านประธาน ซึ่งจะมีผู้คนหลายร้อยต่อแถวเข้าไปฟังถ้อยคำ ‘ปัญญาแห่งความมั่งคั่งของบัฟเฟต’ 

เพราะเหตุใดผู้คนจึงยอมจ่ายแสนแพง ยอมเสียเวลาในชีวิตไปฟังชายผู้นี้ หรือง่ายกว่านั้นคือ เพราะเหตุใด วอร์เรน บัฟเฟต ‘พูด’ แล้วคนจึง ‘อยากฟัง’ 

ในหนังสือ Getting There: A Book of Mentors ที่รวบรวมความเรียงและบทสัมภาษณ์ผู้คนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกเพื่อแชร์มุมมองความคิดและบทเรียนชีวิตแก่ผู้อ่าน  

Gillian Zoe Segal ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ไปสัมภาษณ์เคล็ดลับความสำเร็จระดับล้านล้านบาทของพ่อมดนักลงทุนผู้นี้ ซึ่งยังความประหลาดใจแก่ผู้สัมภาษณ์และผู้อ่าน เมื่อบัฟเฟตไม่ได้พูดถึงเทคนิคการลงทุน หรือชี้เป้าหุ้นเด็ดน่าช้อน 

“คอร์สเรียนการพูดในที่สาธารณะทำให้ผมมีทุกวันนี้ได้” บัฟเฟตกล่าว 

ใครเลยจะรู้ว่า ท่านประธานบริษัทมูลค่านับล้านล้านบาทที่พูดอะไร คนเป็นล้านเทยอดวิวให้จะเคยมีอาการที่แค่นึกว่าต้องออกไปพูดต่อหน้าคน “แค่คิดก็ทำเอาป่วยได้เลย” 

สมัยเรียน บัฟเฟตจะลงแต่วิชาที่ไม่ต้องออกไปพรีเซนต์งานหน้าชั้น เขาหลีกเลี่ยงการพูดต่อหน้าคนมาโดยตลอด จนวันหนึ่งเห็นโฆษณาคอร์สเรียนการพูดในที่สาธารณะของสถาบัน Dale Carnegie ซึ่งเป็นนักพูดและผู้เขียนหนังสือเรื่องการพูดไว้มากมาย เช่น How to Win Friends & Influence People หรือ Public Speaking & Influencing Men In Business

เขาจ่ายเงินค่าเรียน 100 เหรียญ หรือราวๆ 3,000 บาทนิดๆ ไปร่วมชั้นเรียนที่มีคน 30 คนซึ่งล้วนมีปัญหามากกับแค่การพูดชื่อตัวเองต่อหน้าคนอื่น แต่เมื่อจบคอร์ส แทบทุกคนกลับออกไปราวกับเป็นคนละคน รวมทั้งบัฟเฟต 

Joe Hart ซีอีโอของสถาบัน Dale Carnegie สรุปหลักการเป็นนักสื่อสารชั้นยอด 4 ข้อ ดังต่อไปนี้ 

Credit: wavebreakmedia micro
  • เรียนรู้เรื่องที่จะพูดไปทั้งชีวิต

Dale Carnegie เขียนเคยไว้ว่า “ให้พูดเรื่องที่คุณรู้และคุณเองก็รู้ว่าตัวเองรู้เรื่องนั้นดี อย่าใช้เวลาเตรียมตัวเรื่องที่จะพูดแค่ 10 นาที หรือกระทั่ง 10 ชั่วโมงก็ไม่พอ แต่ให้เตรียมตัวล่วงหน้า 10 สัปดาห์หรือ 10 เดือน หรือจะให้ดีกว่านั้นเตรียมตัวให้พร้อมก่อนพูดสัก 10 ปี” 

 สิ่งที่ Dale Carnegie ต้องการจะสื่อคือ จงทำตัวเป็นนักเรียนไปตลอดชีวิต อย่าหยุดเรียนรู้ เพราะวันหนึ่งมันอาจกลายเป็นสิ่งที่จะช่วยชีวิต หรืออาจเปลี่ยนชีวิตของคุณไปเลยก็ได้ หลักการเรียนรู้เพื่อเป็นนักพูดที่ดีคือ เรียนรู้ให้กว้าง ลึก และหลากหลาย  

  • พูดถึงประสบการณ์ตัวเอง 

การพูดให้ได้ใจคน ทางลัดมีอยู่ว่าให้เสริมประสบการณ์ส่วนตัวไปด้วย เพื่อให้คนฟังรู้สึกว่านักพูดคนนี้น่าเชื่อถือ เพราะเขาเจอมาเอง ไม่ได้จำเรื่องคนอื่นมาเล่า รวมทั้งยังเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้ผู้ฟังเห็นกับตาด้วยว่า คนพูดผ่านประสบการณ์มาจนมาบอกเล่าเรื่องราวให้เราฟังได้ เราเองก็ (อาจจะ) ทำได้เช่นกัน 

วิธีการเตรียมตัวก็คือ หยิบกระดาษกับปากกามาล่วงหน้าก่อนจะพูดหลาย ๆ สัปดาห์ นึกถึงคนที่เราจะต้องไปพูดด้วย แล้วจดหัวข้อที่เตรียมจะไปพูด เสริมไปกับประสบการณ์ส่วนตัวของเราเอง 

  • อย่าร่างทุกคำที่จะพูด

ต่อจากข้อ 2 Dale Carnegie แนะนำให้ ‘จดหัวข้อเรื่องที่จะพูด’ แต่ไม่แนะนำเด็ดขาดให้ร่างเรื่องที่จะพูด ยิ่งร่างคำต่อคำแล้วถึงเวลาไปก้มหน้าก้มตาอ่าน ยิ่งไม่สมควรทำ เพราะวินาทีที่ผู้พูดก้มมองร่าง ความสนใจที่คนฟังมีต่อเรื่องราวจะสะบั้นลงทันที ดังนั้น จดหัวข้อหลัก ๆไว้กันลืมได้ แต่ทางที่ดีที่สุดคือ ศึกษาเรื่องที่จะพูดให้ดีพอจนสามารถพูดออกมาอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องมีกระดาษโน้ตใด ๆ จะให้ความรู้สึกราวกับพูดคุยแบบส่วนตัวได้มากกว่า 

  • แผ่พลังบวก

เมื่อคุณศึกษาเรื่องที่จะพูดมาดีพอ ก็จะพูดได้ลื่นไหลเป็นธรรมชาติแบบไม่ต้องมีโน้ต ท้ายที่สุดให้เพิ่มความกระตือรือร้น ความคึกคัก และพลังบวกระหว่างพูดด้วย จะช่วยดึงความสนใจผู้ฟังให้จดจ่ออยู่ที่คุณ

ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ หรือคุณต้องเป็นคนเด่นดังที่ไหน ต่อให้เป็นนักพูดธรรมดา ๆ แต่หากพูดเรื่องที่ตนสนใจหรือหลงใหล ก็อาจปล่อยเสน่ห์หรือพลังดึงดูดคนฟังได้ไม่ยาก 

เช่นเดียวกับวอร์เรน บัฟเฟตที่ตลอดครึ่งศตวรรรษ เขาพูดเฉพาะเรื่องที่เขาเก่งอย่างเอกอุก็คือเรื่องการลงทุน เรื่องที่เขาสนใจมาก ๆ อย่างเรื่องหุ้น และเรื่องที่ทำให้เขาอยากตื่นมาในทุกวันก็คือเรื่องการสั่งสมความมั่งคั่ง 

บัฟเฟตยังกล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยสอนเรื่องยากสุดแสนสลับซับซ้อน แต่เรื่องที่จำเป็นและสำคัญอย่างแท้จริง ก็คือ การพูดให้คนเข้าใจแนวคิดของคุณได้ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘ซอฟต์สกิล’ ที่คนมองข้าม แต่แท้จริงแล้วเป็นทักษะของมนุษย์ที่ AIไม่อาจทดแทนได้ และจะทำให้คุณมีแนวร่วมในการทำงานมากขึ้น งานยาก ๆ อาจสำเร็จได้โดยง่ายหากคุณสามารถโน้มน้าวให้คนเชื่อและลงเรือลำเดียวกัน 

“คอร์สราคา 100 เหรียญนั้นเปรียบเสมือนปริญญาใบสำคัญที่สุดที่ผมได้มา และส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ที่สุดต่อความสำเร็จที่ผมได้รับในเวลาต่อมาด้วย” วอร์เรน บัฟเฟตกล่าว

“ผมฝึกพูดมาเรื่อยๆ จนตอนนี้ใครก็มาหยุดไม่ให้พูดไม่ได้แล้ว” 


Photo: master1305