ในช่วงฤดูร้อน เป็นช่วงไฮซีซั่นของการเที่ยวทะเล แม้อากาศจะร้อนตามอุณหภูมิที่พุ่งสูง แต่สายลมชายฝั่งก็ช่วยคลายความร้อนอบอ้าวลงได้ และลมแรงนี้เองที่พลอยพัดพาเกลียวคลื่นให้ซัดสาดเข้าสู่ฝั่งลูกแล้วลูกเล่า
ผมได้รับมอบหมายให้เดินทางลงใต้ เพื่อบันทึกภาพการเล่นกีฬาเซิร์ฟบอร์ด (Surf Board) ให้กับนิตยสารฉบับหนึ่ง โดยมีหาดกะตะ จ.ภูเก็ต เป็นจุดหมายปลายทางของการสะพายกล้องเดินทางในครั้งนี้ของผม
ผมเตรียมอุปกรณ์ถ่ายภาพมาเต็มกระเป๋าเท่าที่จะขนมาได้กับการเดินทางคนเดียว มีกล้อง DSLR ฟูลเฟรม 2 ตัว และเลนส์มุมกว้างขนาด 14-24 ม.ม. เลนส์ระยะกลางขนาด 24-120 ม.ม. เลนส์เทเลระยะไกล 300 ม.ม. กล้องแต่ละตัวก็ใส่เลนส์มุมกว้างและเลนส์เทเลเผื่อไว้เลย นอกจากจะทำให้ถ่ายภาพได้ต่อเนื่องเพราะไม่ต้องเสียเวลาถอดเลนส์เข้าออกแล้ว ก็ยังช่วยป้องกันกลไกภายในกล้องจากไอเค็มของทะเลที่อาจเข้ามาเกาะขณะเปลี่ยนเลนส์อีกด้วย ปกติเวลามาถ่ายงานที่ทะเล หลังถ่ายภาพเสร็จในแต่ละวัน ผมจะใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ บิดให้แห้ง แล้วเช็ดทำความสะอาดบอดี้กล้องเสมอ เพื่อไม่ให้มีไอเค็มติดค้างอยู่บนกล้องครับ
ที่ผ่านมา การเล่นเซิร์ฟบอร์ดหรือกระดานโต้คลื่นในเมืองไทยยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายมากนัก เนื่องจากยังมีพื้นที่ในการเล่นไม่มาก และช่วงเวลาในการเล่นก็ค่อนข้างสั้น ไม่เหมือนกับประเทศอินโดนีเซียหรือออสเตรเลียที่ชายหาดเหมาะกับการเล่นกระดานโต้คลื่นอย่างมาก อีกทั้งคลื่นลมในทะเลก็พัดต่อเนื่องยาวนานกว่าบ้านเรา สำหรับเมืองไทย “หาดกะตะใหญ่” เป็นหนึ่งในสถานที่ที่เหมาะสำหรับกิจกรรมทางน้ำ ตั้งแต่การเล่นน้ำ ดำน้ำดูปะการัง รวมถึงเล่นเซิร์ฟบอร์ดด้วย หาดแห่งนี้เป็นที่ชื่นชอบอย่างมากในหมู่นักเล่นกระดานโต้คลื่น ด้วยลักษณะของชายหาดและคลื่นที่ยาวกว่ากิโลเมตร จึงตอบโจทย์เบื้องต้นของผู้ที่เล่นกีฬาชนิดนี้ ส่วนช่วงเวลาที่นิยมเล่นเซิร์ฟบอร์ดกันคือปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนกันยายน เพราะเป็นช่วงที่ทะเลมีคลื่นสูง เหมาะกับการเล่นกระดานโต้คลื่น แต่ก็ขึ้นอยู่กับลมมรสุมด้วยเช่นกันครับ
ผมเตรียมตัวมาถ่ายภาพงานนี้ ด้วยการหาภาพยนตร์เกี่ยวกับการเล่นเซิร์ฟบอร์ดมาดู เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมให้ตัวเองและศึกษามุมมองภาพในแบบต่าง ๆ ของการเล่นกีฬาชนิดนี้ ซึ่งภาพยนตร์มักนำเสนอด้วยจังหวะน่าตื่นเต้นระทึกใจ เพราะคลื่นแต่ละลูกนั้นสูงท่วมภูเขาเลยทีเดียวครับ
ผมวาดภาพคิดหามุมเด็ดไว้ในหัวอยู่หลายช็อต แต่เมื่อถึงหน้างานจริง คลื่นที่สาดซัดกระทบชายหาดกะตะกลับไม่ได้รุนแรงเหมือนในหนังที่ดูมา เลยต้องเปลี่ยนแผนการถ่ายภาพ เป็นการเล่นกระดานโต้คลื่นแบบเบสิกแทน และภาพการเรียนการสอนเล่นเบื้องต้น ถ้าวันไหนคลื่นสวยและสูงพอ รวมทั้งมีนักกีฬาเก่งออกไปโต้คลื่น ผมก็จะจัดเต็มภาพอย่างที่คิดไว้ในหัว แต่ก็ทำได้ไม่มากนัก เพราะคลื่นลมไม่เป็นใจเท่าไร
ส่วนตัวแล้วมีน้อยครั้งที่ผมจะปักหลักเพื่อถ่ายภาพ เพราะผมชอบเดินหามุมหาเหลี่ยมไปเรื่อย ๆ มากกว่า อย่างงานนี้ผมเริ่มจากถ่ายภาพคนที่มาเรียน ซึ่งก็มีร้านเปิดสอนการเล่นเซิร์ฟบอร์ดอยู่หลายร้าน คิดค่าเรียนเป็นชั่วโมง มีครูฝึกคอยแนะนำการเล่น มีทั้งสอนแบบตัวต่อตัว หรือเรียนเป็นกลุ่ม เรียนเสร็จก็พาลงทะเลหน้าหาดกันเลย หรือใครอยากเรียนด้วยตัวเองก็เช่าเซิร์ฟบอร์ดไปเล่นเองเลยก็ได้ครับ มีทั้งราคาเช่าแบบรายชั่วโมงและเหมาทั้งวัน
ในช่วงบ่ายจะมีคนที่เล่นกระดานโต้คลื่นเก่งๆ เริ่มออกมาวาดลวดลายกันมากขึ้น ผมใช้เลนส์เทเลที่มีกำลังขยายสูงขึ้น เพื่อดึงภาพนักเล่นกระดานโต้คลื่นที่อยู่ไกลออกไปในทะเลให้ขยับเข้ามาใกล้ ผมตั้งฟังก์ชันของกล้องให้ถ่ายต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว เพื่อจับจังหวะให้ทันตอนนักเล่นกระดานโต้คลื่นทรงตัวอยู่บนแผ่นกระดานที่ลอยอยู่บนยอดคลื่นลูกใหญ่ ๆ บางจังหวะก็ไถลกระดานล้อไปกับเกลียวคลื่นที่ม้วนตัวเข้าสู่ฝั่ง
นักเล่นกระดานโต้คลื่นจะยืนทรงตัวมองคลื่นอยู่กลางทะเล เมื่อเห็นคลื่นที่ถูกใจ ก็จะไถลกระดาน ตีกรรเชียงเข้าหาคลื่นอย่างว่องไว เมื่อเกลียวคลื่นม้วนยกตัวขึ้น ก็จะลุกยืนบนกระดานที่ลอยอยู่บนหัวคลื่น พร้อมกับเลี้ยงตัวบนกระดาน ไถลลงไปในช่องของเกลียวคลื่นที่ม้วนตัวเข้าสู่ฝั่ง การจับภาพให้ได้จังหวะสวย ๆ จึงต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง ไม่ต่ำกว่า 1/500 วินาที หรืออาจจะต้องสูงกว่านั้น เพื่อให้ภาพนักเล่นกระดานโต้คลื่นหยุดนิ่งอยู่ท่ามกลางเกลียวคลื่นที่สาดกระเซ็น
ผมเปลี่ยนมาบันทึกภาพผู้คนที่มาฝึกการเล่นเซิร์ฟบอร์ดด้วยเลนส์มุมกว้าง การใช้เลนส์ระยะนี้ต้องแม่นยำในการจัดการเฟรมภาพ ผมเริ่มบันทึกภาพตั้งแต่บทเรียนแรก ๆ คือการหัดทรงตัวบนกระดานโต้คลื่น วิธีลอยตัวบนกระดาน ก่อนจะค่อย ๆ ทรงตัวยืนขึ้น เลี้ยงน้ำหนักตัวบนกระดานที่ไถลไปมาไม่นิ่ง ทำให้ทรงตัวได้ยากมาก แม้ว่าจะเป็นระลอกคลื่นเล็ก ๆ ก็ตาม ซึ่งมือใหม่หัดเล่นส่วนใหญ่ผมเห็นว่ายืนทรงตัวได้ไม่ถึงอึดใจ ก็ล้มลงแล้ว คงคล้ายกับการหัดขี่จักรยานครั้งแรกนะครับ แต่เมื่อทรงตัวขี่ได้แล้ว ต่อให้ไม่ได้ขี่บ่อยก็จะไม่ลืมทักษะนี้ ที่เหลือก็คือชั่วโมงบินที่จะช่วยให้เกิดความคล่องแคล่วและชำนาญครับ
เรื่องและภาพถ่ายโดย นคเรศ ธีระคำศรี