Grid Brief

  • ชาวญี่ปุ่นที่ผ่านภัยธรรมชาติสุดขั้วมานักต่อนัก จึงมีองค์ความรู้ในการเตรียมบ้านเรือน อาหาร อุปกรณ์สื่อสาร และวิธีขับถ่ายในยามไม่มีน้ำไฟให้ใช้ พร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ในกรณีที่จะไม่อพยพตัวเองไปอยู่ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย

ฮิโรอากิ นิชิโนะ มีประสบการณ์เฉกเช่นชาวญี่ปุ่นทั้งหลายที่เผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติครั้งเลวที่ร้ายที่สุดของมนุษยชาติมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสึนามิสูง 40 เมตรที่ซัดชายฝั่ง 2,000 กิโลเมตรของญี่ปุ่น ตามด้วยแผ่นดินไหวระดับ 9 ริกเตอร์ในปี 2554 จนมาถึงซูเปอร์ไต้ฝุ่นฟ้าใสที่ขึ้นฝั่งในจังหวัดชิบะ บ้านของเขาพอดีในปี 2562 ซึ่งนิชิโกะนั่งขวัญผวาอยู่ในบ้านที่โยกไหวไปมาเหมือนโดนยักษ์จับเขย่า แต่แท้จริงคือเรี่ยวแรงมหาศาลของไต้ฝุ่นที่มีความเร็วลมเกิน 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทว่า ด้วยการเตรียมบ้านให้พร้อมรับภัยพิบัติ ที่พักอาศัยและตัวเขาเอง จึงยังอยู่รอดปลอดภัยหลังจากพายุพัดผ่าน

บ้านของนิชิโนะเป็น 1 ใน 140,000 หลังคาเรือนที่ไม่มีน้ำไฟใช้หลังภัยพิบัติ และเรียนรู้ที่จะปรับตัวเอาชีวิตรอด ก่อนจะกลั่นกรองประสบการณ์เป็น ‘ตำราป้องกันหายนะสำหรับผู้ที่ไม่ไปศูนย์พักพิงฉุกเฉิน’ หนังสือที่เขาเขียนเมื่อปี 2563 โดยนิชิโกะแบ่งปันเคล็ดลับรับมือเหตุภัยธรรมชาติต่าง ๆ ไว้ดังนี้ 

  • ตรวจดูฉนวนกันความร้อนภายในบ้านให้ทั่วทุกจุด และติดตั้งหน้าต่างสองชั้น กันฝนกันร้อน หรือซ้อนแผ่นโพลีคาร์บอเนตกับหน้าต่าง เพิ่มความหนาได้อีกชั้น 
  • แทนที่จะเตรียมอาหารแห้งไว้ยามฉุกเฉิน ให้เตรียมอาหารที่กินตามปกติในปริมาณมากกว่าเดิม เพื่อให้แต่ละมื้อได้กินอาหารที่หน้าตาเหมือนอาหาร ไม่ต้องทนกินอาหารแห้งหรืออาหารกระป๋องชืด ๆ  
  • หาอะไรมายึดเฟอร์นิเจอร์ไว้ระหว่างพื้นกับเพดานให้แน่น ป้องกันไม่ให้เครื่องเรือนกลิ้งหรือเหวี่ยงไปมาสร้างความเสียหายในบ้าน 
  • เตรียมโคมไฟ ตะเกียง ไฟฉาย หรือไฟสวมหัวให้พร้อมใช้ในยามไฟดับ และเตรียมแบตเตอรี่สำรองให้ใช้งานได้อย่างน้อย 3 วัน 
  • ชาร์จพาวเวอร์แบงก์สำหรับอุปกรณ์สื่อสารไว้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเผื่อไว้ชาร์จโทรศัพท์มือถือ 
  • ของใช้ในห้องน้ำขนาดพกพาเป็นของจำเป็นอย่างยิ่งในยามที่ไม่มีน้ำใช้ โดยเฉพาะแป้งที่เปลี่ยนของเสียของมนุษย์ให้กลายเป็นเจล อีกทางเลือกหนึ่งคือเตรียมถุงพลาสติกและกระดาษหนังสือพิมพ์ไว้เยอะ ๆ สำหรับนำมาซับของเสียที่ขับถ่ายออกมา  
  • แช่น้ำแข็งก้อนและเจลเก็บความเย็นในช่องฟรีซไว้เสมอ เช่นเดียวกับกล่องเก็บความเย็นที่ได้ใช้งานแน่นอนเมื่อไม่มีไฟฟ้าใช้ 

การเตรียมตัวรับมือไต้ฝุ่นหรือฝนตกหนัก

  • ป้องกันหน้าต่างไม่ให้แตกหักเสียหายจากแรงลมและฝน ด้วยการปิดหน้าต่างที่นอกตัวบ้านด้วยไม้อัด โดยใช้เทปกาวชนิดเหนียวหรือติดฟิล์มป้องกันกระจกแตก
  • เก็บกระถางต้นไม้ พืชพรรณ อุปกรณ์ทำสวนและทุกสิ่งทุกอย่างออกจากระเบียงและสนามหญ้า
  • ตรวจดูให้แน่ใจว่าคอมเพรสเซอร์ระบายความร้อนของเครื่องปรับอากาศที่อยู่นอกบ้านเกาะยึดแน่นหนากับพื้น ไม่อย่างนั้นจะใช้งานเครื่องปรับอากาศไม่ได้ ต่อให้คุณมีพลังงานไฟสำรองในยามไฟดับก็ตาม

รูปโดย Freepik