Grid Brief

  • คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ โดยในเมืองไทยมีตัวชี้วัดและการรับรองมาตรฐานจากการดำเนินโครงการ T-VER ที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก.
  • โครงการ T-VER มี 6 รูปแบบ ได้แก่ พลังงานทดแทน การขนส่ง การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โรงงาน กิจกรรมของเสีย ไปจนถึงเกษตรและป่าไม้
  • ประเทศไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตั้งแต่ปี 2559-2567 ปริมาณรวมอยู่ที่ 3.29 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยเป็นการซื้อขายแบบสมัครใจเพื่อไปชดเชยขององค์กรหรือผลิตภัณฑ์ บุคคล หรืออีเวนต์

ในยุคเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน หนึ่งในธุรกิจสีเขียว (Green Economy) ที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงและรักษ์โลกได้ สร้างรายได้ไปด้วยก็คือ ธุรกิจคาร์บอนเครดิต 

ดร.ปราณี หนูทองแก้ว ผู้จัดการสํานักรับรองคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ชวนทำความรู้จัก โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (โครงการ T-VER) ว่าคืออะไร ทำอย่างไร และทำรายได้มากน้อยแค่ไหน 

คาร์บอนเครดิตคืออะไร

คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ จากการดำเนินโครงการ T-VER และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องของการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ของประเทศไทย) และถูกบันทึกในระบบทะเบียนของ อบก. 

คาร์บอนเครดิตมีหน่วยเป็น tCO2eq (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ไม่มีรูปร่าง แต่นำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ เมื่อไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ จึงต้องวัดกันด้วยความน่าเชื่อถือของเครดิต ซึ่งรวมถึงมาตรฐานที่ใช้ในการประเมิน รวมไปถึงความโปร่งใสต่าง ๆ 


ทว่า ในเมื่อคาร์บอนเครดิตคือผลิตภัณฑ์ที่จับต้องไม่ได้ แล้วจะตรวจสอบได้อย่างไร

หน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และให้การรับรองคาร์บอนเครดิต คือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) (อบก.) เป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

อบก. ไม่ได้ดำเนินเพียงลำพัง หากยังมีคณะอนุกรรมการอบก. คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ T-VER ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยพิจารณาผลักดันโครงการ และช่วยพัฒนาระเบียบวิธีและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 

มาตรฐานและการประกันความน่าเชื่อถือของโครงการ T-VER นั้นมีกรอบดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 14064-2:2019 และแนวทางการตรวจสอบความใช้ได้และการทวนสอบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโครงการสอดคล้องตามมาตรฐาน ISO 14064-3:2019 อีกทั้งยังตรวจสอบความใช้ได้โครงการและทวนสอบปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ โดยดูข้อมูลโครงการต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์โครงการ T-VER และตรวจสอบได้ว่าแต่ละโครงการมีการซื้อ-ขายเท่าไรในระบบทะเบียน T-VER Credit


ผู้เกี่ยวข้องในโครงการ T-VER มีใครบ้าง

  1. ผู้พัฒนาโครงการ (Project Participant) คือ บุคคลซึ่งเป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนการพัฒนาโครงการ T-VER และมีความรับผิดชอบในกระบวนพัฒนาโครงการ T-VER เช่น จัดทำเอกสารประกอบการขอขึ้นทะเบียนโครงการและการเปิดบัญชี จัดทำเอกสารประกอบการขอรับรองคาร์บอนเครดิต เป็นต้น โดยผู้พัฒนาโครงการอาจเป็นเจ้าของโครงการด้วยก็ได้ 
  2. เจ้าของโครงการ (Project Owner) คือ บุคคลที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโครงการ เช่น โรงงาน เครื่องจักร เป็นต้น ซึ่งจะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ เจ้าของโครงการสามารถทำสัญญาตกลงกรรมสิทธิ์ในคาร์บอนเครดิตกับผู้พัฒนาโครงการได้ (กรณีผู้พัฒนากับเจ้าของโครงการเป็นคนละรายกัน) 
  3. ผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ (Validation and Verification Body: VVB) คือ นิติบุคคลที่ได้รับการรับรองระบบงาน (Accreditation) หน่วยตรวจสอบความใช้ได้ และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก และขึ้นทะเบียนรายชื่อเป็นผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจกับ อบก. 

VVB ในประเทศไทยมี 10 ราย ได้แก่ 

  1. ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  2. หน่วยรับรองการจัดการก๊าซเรือนกระจก มหาวิทยาลัยพะเยา
  3. บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด
  4. บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด 
  5. บริษัท อีซีอีอี จำกัด 
  6. สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ
  7. หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  8. หน่วยงานรับรองก๊าซเรือนกระจก มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์
  9. บริษัท ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด
  10. บริษัท บีเอสไอ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด 

โครงการ T-VER มีกี่ระดับ 

โครงการ T-VER มี 2 ระดับ ได้แก่ Standard T-VER และ Premium T-VER มีความแตกต่างในหลักการ ดังต่อไปนี้ 

โครงการ Standard T-VER ต้องเป็น…

  • โครงการยังไม่เริ่ม หรือ เริ่มแล้วย้อนหลังไม่เกิน 3 ปี
  • มีผลประโยชน์ร่วมอื่น ๆ นอกเหนือจากการลดก๊าซเรือนกระจก 

ส่วนโครงการ Premium T-VER ต้องเป็น…

  • โครงการใหม่เท่านั้น โดยยังไม่จ้างเหมาติดตั้ง ยังไม่ปลูกหรือก่อสร้างใด ๆ
  • ต้องดีกว่าปกติจริง ๆ โดยมีการพิสูจน์การดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินงานปกติที่เข้มข้น 
  • มีการรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง
  • สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและไม่สร้างผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ 
  • เครดิตเก็บมาแล้วต้องไม่หาย 

โครงการ T-VER มีกี่ประเภท

โครงการ T-VER มี 6 รูปแบบ 13 ประเภท ได้แก่

  1. พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ได้แก่ โครงการพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและการผลิตความร้อน
  2. การขนส่ง (Transport) ได้แก่ โครงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โครงการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์ 
  3. การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency) ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร โรงงานและในครัวเรือน
  4. โรงงาน (Factory) ได้แก่ โครงการปรับเปลี่ยนสารทำความเย็นธรรมชาติ โครงการใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ด 
  5. กิจกรรมของเสีย (Waste) ได้แก่ โครงการจัดการขยะมูลฝอย โครงการจัดการน้ำเสียชุมชน โครงการนำก๊าซมีเทนมาใช้ประโยชน์ โครงการจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรม 
  6. เกษตรและป่าไม้ (Land Use) ได้แก่ โครงการลด ดูดซับและการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรและป่าไม้  
Credit: www.thailand.go.th/issue-focus-detail/001-04-002

โครงการ T-VER ทำรูปแบบใดได้บ้าง

ทำได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ โครงการเดี่ยว ควบรวมและแผนงาน 

โครงการแบบเดี่ยว ต้องมีที่ตั้งแห่งเดียวและจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการเล่มเดียว 

โครงการแบบควบรวม มีที่ตั้งหลายแห่ง ทุกโครงการย่อยเป็นประเภทเดียวกัน และใช้ระเบียบวิธีเดียวกัน ระยะเวลาคิดเครดิตของทุกแห่งเหมือนกัน และจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการเล่มเดียว 

โครงการแบบแผนงาน ทุกกลุ่มโครงการย่อยเป็นประเภทเดียวกัน ใช้ระเบียบวิธีเดียวกัน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้ของโครงการต้องไม่เกิน 60,000 tCO2eq ต่อปี ระยะเวลาคิดเครดิตของกลุ่มโครงการย่อยกำหนดไม่เท่ากันได้ จัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการแบบแผนงาน และทำเอกสารของกลุ่มโครงการย่อยแต่ละกลุ่มแยกกัน กลุ่มโครงการย่อยแต่ละกลุ่มต้องเป็นโครงการแบบขนาดเล็กมาก โดยเพิ่มกลุ่มโครงการย่อยได้เรื่อย ๆ ในกรอบอายุของแผนงาน 


ขั้นตอนการพัฒนาการโครงการ Standard T-VER 

  1. ขึ้นทะเบียนโครงการ ผู้พัฒนาโครงการพิจารณาขอบเขตการดำเนินโครงการ จัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ ให้ผู้ประเมินภายนอกตรวจสอบความใช้ได้โครงการ แล้วรวบรวมเอกสารส่งไปยัง อบก. เพื่อขอขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ได้แก่ ใบคำขอขึ้นทะเบียนโครงการ เอกสารข้อเสนอโครงการ ไฟล์คำนวณแบบ Excel รายงานตรวจสอบความใช้ได้ รายงานการประเมินผลประโยชน์ร่วม เอกสารประกอบการเปิดบัญชี และอื่น ๆ ตามที่ อบก. กำหนด 
  2. รับรองคาร์บอนเครดิต ผู้พัฒนาโครงการติดตามผลและจัดทำรายงาน ผู้ประเมินภายนอกทวนสอบปริมาณก๊าซเรือนกระจก และรับรองคาร์บอนเครดิต 

โดยโครงการ Standard และ Premium T-VER มีความแตกต่างในขั้นตอนการขึ้นทะเบียน คือ Premium T-VER ต้องยังไม่เริ่มดำเนินโครงการ ต้องยื่นแจ้งความประสงค์ในการพัฒนาโครงการ และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียก่อนเริ่มดำเนินโครงการ ต้องจัดทำรายงานแนวทางการประเมินการพัฒนาที่ยั่งยืนและการป้องกันผลกระทบด้านลบของโครงการ เผยแพร่รายงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทางเว็บไซต์ อบก. 30 วัน เงื่อนไขการพิสูจน์การดำเนินงานเพิ่มเติมจากปกติ มีการจัดทำรายงานความเสี่ยงต่อการสูญเสียคาร์บอนจากความไม่ถาวรของโครงการ 

นอกจากนี้ การหักเครดิตสำรอง วิธีการประเมินคาร์บอนเครดิต ระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิต เช่น Standard T-VER อายุแผนงาน 10 ปี ส่วนแบบ Premium T-VER 20 ปี และการต่ออายุได้โครงการ Standard  T-VER อาจต่ออายุได้ 1 ครั้ง หรือไม่จำกัดจำนวนครั้งตามประเภทโครงการ ส่วนแบบ Premium T-VER ต่ออายุได้ 2 ครั้ง ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการต่างไปจากโครงการ Standard T-VER อีกด้วย  


กว่าจะได้เครดิต มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

  1. ค่าจัดทำเอกสาร/ดำเนินโครงการ (ค่าที่ปรึกษา 12,000 – 20,000 บาท/คน/วัน)
  2. ค่าตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูล 
  3. ค่าตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบโครงการ (ค่าตรวจของผู้ประเมินภายนอก มีค่าขึ้นทะเบียนและขอรับรองแต่ละครั้ง 12,000 – 20,000 บาท/คน/วัน)
  4. ค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียน/รับรองเครดิต (ขึ้นทะเบียนโครงการแบบ Standard T-VER 5,000 บาท/โครงการ แบบ Premium T-VER 10,000 บาท/โครงการ ค่ารับรองคาร์บอนเครดิต 5,000 บาท/คำขอ หรือ 3,000 บาท/คำขอ และหักคาร์บอนเครดิต 10 tCO2eq 10,000 บาท/คำขอ หรือ 5,000 บาท/คำขอ และหักคาร์บอนเครดิต 10 tCO2eq) 

พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตแล้วนำไปใช้อะไรได้บ้าง  

  1. สามารถใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ถือเครดิต 
  2. ใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หลายหน่วยงานมีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ผลิตภัณฑ์ หรือเวลาจัดงาน เช่น โอลิมปิก หรือฟุตบอลโลก มีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก งานอีเวนต์ และสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้นได้ หรือระดับบุคคลก็สามารถคำนวณได้ว่าในแต่ละปีเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไรจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การขับรถ ใช้ไฟฟ้าที่บ้าน โดยชดเชยเพื่อเป็น “Carbon-Neutral Man คนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” 
  3. หน่วยงานสามารถใช้ในการรายงานได้ ไม่ว่ารายงานประจำปี รายงานความยั่งยืนองค์กร รายงานด้านสิ่งแวดล้อม
  4. ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร

ปัจจุบันมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตใน 2 รูปแบบ คือ 

1. OTC (over the counter) เป็นการซื้อขายที่ผู้ซื้อผู้ขายตกลงเรื่องราคากันเอง 

2. Trading Platform เป็นตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอน อบก. มีความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดตั้งโอกาสซื้อขายหรือเป็นแพลตฟอร์มที่เรียกว่า MTIS โดยผู้ขายมีการเสนอราคาขาย ผู้ซื้อเรียกราคาที่จะซื้อ มีการจ่ายเงินผ่านธนาคาร 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงไทยและเอ็กซิมแบงก์ แพลตฟอร์มไม่มีค่าธรรมเนียมในการซื้อขายถ่ายโอน ส่วนการซื้อขายแบบ OTC สามารถดำเนินการซื้อขายถ่ายโอนได้เลย


สถิติข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแยกตามปีงบประมาณ

ประเทศไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตั้งแต่ปี 2559-2567 ปริมาณรวมอยู่ที่ 3.29 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตัวเลขไม่สูงนักเนื่องจากการซื้อขายในประเทศไทยเป็นการซื้อขายแบบสมัครใจเพื่อไปชดเชยขององค์กรหรือผลิตภัณฑ์ บุคคล หรืออีเวนต์  

ในปี 2565 ปริมาณการซื้อขายค่อนข้างสูง เป็นผลจากปัจจัยภายนอกคือ ผลการประชุม COP26 ที่ได้กำหนดแนวทางการถ่ายโอนการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ บรรลุร่วมกันถึงการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวเรื่องนี้ ส่งผลให้มีการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้น

สถิติการซื้อขาย Over the counter (OTC) ปีงบประมาณ 2567 โครงการ T-VER แยกประเภทโครงการ เช่น โครงการชีวภาพ ราคาต่ำสุดในปี 2567 อยู่ที่ 200 บาทต่อตัน สูงสุด 250 บาทต่อ ส่วนราคาสูงสุดอยู่ในโครงการประเภทป่าไม้

ส่วนราคาซื้อขายในเทรดดิงแพลตฟอร์ม FTIX ปริมาณการซื้อขายยังไม่มากนัก ปีงบประมาณ 2567 มีการซื้อขาย 1,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มูลค่าอยู่ที่ 110,000บาท ราคาอยู่ที่ 44 บาทต่อตันไปจนถึง 300 บาทต่อตัน


ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อราคาคาร์บอนเครดิต

  1. ประเภทโครงการ ราคาของภาคป่าไม้จะค่อนข้างสูง เขาค่อนข้างให้การสนับสนุนภาคป่าไม้ มองว่ามี Co Benefit หลาย ๆ อย่าง ภาคป่าไม้เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาคาร์บอนเครดิตสูงหรือต่ำ
  2. มาตรฐานการออกเครดิต มาตรฐานไหนมีความน่าเชื่อถือมากเพียงใด เช่น มาตรฐาน Vera, Gold Standard, CDM หรือ T-VER เป็นต้น 
  3. ปีที่แสดงความเก่าใหม่ของคาร์บอนเครดิต คาร์บอนเครดิตที่เพิ่งเกิดจะได้ราคาดีกว่า
  4. ผลประโยชน์ร่วม ถ้าโครงการมีประโยชน์หลาย ๆ ด้าน เช่น ช่วยชุมชน ส่งเสริมด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือป่าไม้มีความหลากหลายทางชีวภาพ จะส่งผลให้ได้ราคาสูงขึ้น 

ผู้ที่สนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตและโครงการ T-VER ได้ในเว็บไซต์ กลไกลดก๊าซเรือนกระจก https://ghgreduction.tgo.or.th/ และเว็บไซต์ อบก. https://tver.tgo.or.th/