หลายปีก่อนเราคงพอได้ยินข่าวที่ รัฐบาลออสเตรเลียได้เปิดตัวโครงการความปลอดภัยทางถนนครั้งใหญ่ ด้วยงบประมาณกว่า 245 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว ๆ 5,901 ล้านบาท เพื่อทำให้ถนนสายต่าง ๆ ของรัฐวิกตอเรียปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับผู้ใช้ถนน ครอบคลุมถึงทางเท้าที่มีไฟ LED ติดตั้งอยู่ใกล้สี่แยก ตลอดจนนวัตกรรมการตีเส้นบนถนนด้วย Photoluminescent ที่สะท้อนแสงมากขึ้น

สำหรับบ้านเราก็พอมีให้เห็นที่ จ.บึงกาฬ กับนวัตกรรมที่ใช้ยางพารามาเป็นส่วนหนึ่งในการเนรมิตถนน และสำหรับภาคใต้ก็น่าจะเป็นแห่งแรกกับการเปิดตัวนวัตกรรมหมุดถนนเรืองแสง เพิ่มความปลอดภัยทางถนนที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช

นำทีมโดย รศ.ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจ และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมหมุดถนนเรืองแสงแบบไฮบริด โดยใช้เทคโนโลยี Glow-in-the-Dark (GiD) ร่วมกับการรีไซเคิลผงแก้ว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนจาก Mitsui Sumitomo Insurance Welfare Foundation Research Grant 2022 จากประเทศญี่ปุ่น

สำหรับนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนในยามค่ำคืน ด้วยการดูดซับแสงในช่วงกลางวันและเปล่งแสงในตอนกลางคืน โดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม ซึ่งการใช้วัสดุรีไซเคิลก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 30% และลดปริมาณขยะจากการฝังกลบ

ทว่า นวัตกรรมนี้ไม่เพียงช่วยลดอุบัติเหตุ แต่ยังตอบโจทย์ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และได้รับการเผยแพร่ในวารสารระดับ Q1 เพื่อยืนยันถึงศักยภาพในระดับสากลด้วย ซึ่งการใช้งานหมุดเรืองแสงในพื้นที่จริงยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในทุกสภาพอากาศ และทนต่อแรงกดทับของยานพาหนะ ซึ่งโครงการนี้ได้เปิดโอกาสให้พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเพื่อขยายการใช้งานในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยและภูมิภาคต่อไปด้วย