หลายประเทศทั่วโลกวางยุทธศาสตร์ว่าจะเปลี่ยนประเทศให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ให้ได้ภายในพ.ศ. 2593 ซึ่งมี 5 ประเทศที่ทำสำเร็จแล้ว ได้แก่ คอโมโรส (Comoros) เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งและเป็น 1 ใน 4 ประเทศที่เล็กที่สุดในทวีปแอฟริกา, กาบอง (Gabon) หนึ่งในประเทศที่มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงที่สุดในบรรดาประเทศแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราจากการค้าน้ำมัน, กายอานา (Guyana) ครองแชมป์เศรษฐกิจโตเร็วสุดในโลก 4 ปีติดต่อกัน, มาดากัสการ์ (Madagascar) เกาะใหญ่อันดับ 4 ของโลกที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์จนได้สมญานามว่า ‘ทวีปที่ 8’ และ นีอูเอ (Niue) หมู่เกาะปะการังที่ใหญ่ที่สุดของโลก
การทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นลบนั้น (Carbon Negative) ทำได้ยากในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาที่เต็มไปด้วยเครื่องจักร เครื่องยนต์ โรงงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน และอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณสูง
ความแตกต่างระหว่าง 2 คำนี้คือ ประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-neutral) หรือปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (net-zero) จะพยายามทำกิจกรรมอื่นเพื่อชดเชยให้เท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ที่ปล่อยออกไป เช่น อาจปลูกป่าทดแทน เป็นต้น
ส่วนประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นลบ (Carbon Negative) จะมุ่งเน้นที่การกำจัดหรือกักเก็บคาร์บอน (Carbon Sequestration) โดยเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ จากสถานะก๊าซให้กลายเป็นของแข็งหรือของเหลว และนำมากักเก็บไว้ในแหล่งกักเก็บตามธรรมชาติที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ยาวนาน เช่น มหาสมุทร ดิน และชั้นหิน เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยชะลอหรือย้อนกลับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ประเทศที่เป็นกลางทางคาร์บอนมักวางเป้าหมายต่อไปว่าจะปล่อยคาร์บอนเป็นลบ
จาก 195 ประเทศตามข้อมูลปี 2567 ขององค์การสหประชาชาติ มีเพียง 3 ประเทศในโลกเท่านั้นมีการปล่อยคาร์บอนเป็นลบ ได้แก่
ภูฏาน (Bhutan) ประเทศแรกที่ปล่อยคาร์บอนเป็นลบในโลกยุคใหม่ โดยป่าไม้กว่า 70% ที่ปกคลุมพื้นที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ รัฐบาลยังออกกฎหมายห้ามส่งออกไม้ซุง เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าประเทศต้องมีป่าไม้อย่างน้อย 60% ไปตลอด และภาครัฐลงทุนในกิจการโซลาร์เซลล์ พลังงานชีวภาพ และให้เงินอุดหนุนคนที่ใช้หลอดไฟแอลอีดี ฯลฯ
ปานามา (Panama) 65.4% ของพื้นที่คือป่าฝน ป่าไม้ และบึงน้ำ โดยรัฐบาลวางเป้าว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้อีกกว่า 300,000 ไร่ภายในพ.ศ.2593
ซูรินาม (Suriname) หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุด พื้นที่เล็กที่สุด (163.8 ตารางเมตร) และมีจำนวนประชากรน้อยที่สุดในโลก (620,000 คนในปี 2566) รวมทั้งรายได้หลักของประเทศยังมาจากการทำเหมืองอะลูมิเนียม ทองคำ และน้ำมัน แต่ประเทศในอเมริกาใต้แห่งนี้มีป่าไม้หนาแน่นถึง 90-97% ที่ช่วยดูดซับมลพิษได้เป็นอย่างดี