รายงาน Fostering Effective Energy Transition หรือ การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างมีประสิทธิผล จัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ซึ่งได้ทำรายงานดัชนีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดหรือ ETI มานานถึง 14 ปี ครอบคลุม 120 ประเทศทั่วโลก
ดัชนี ETI ในปี 2567 มีประเทศ 107 ประเทศที่มีพัฒนาการดีขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา แม้เผชิญกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี และความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทว่า ราคาพลังงานที่แพงขึ้นทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ต้องอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชากรในประเทศนั้น ๆ ได้ใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น และเปิดทางให้เข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากขึ้นไปด้วย
ทั้งนี้ ดัชนี ETI ให้คะแนนด้านประสิทธิภาพ 60% และความพร้อมการเปลี่ยนแปลง 40% โดยอิงจากความเท่าเทียมในการเข้าถึงพลังงานสะอาด ความปลอดภัยและความยั่งยืนเป็นหลัก คะแนนเฉลี่ยในปีนี้อยู่ที่ 56.5 เพิ่มขึ้น 6% นับจากปี 2558 และประเทศที่มีคะแนนเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
5. ฝรั่งเศส (คะแนน ETI 71.1)
เจ้าภาพโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2024 ทะยานมาติดท็อป 5 ด้วยนโยบายพลังงานที่มีประสิทธิภาพ มุ่งเป้าไปที่ครัวเรือนรายได้ต่ำ เพื่อช่วยให้ประชาชนที่ต้องการพลังงานมากที่สุดแต่ขาดแคลนมากที่สุดได้ใช้พลังงานสะอาด และทำให้ฝรั่งเศสตั้งรับวิกฤตพลังงานของโลกอย่างได้ผล อีกทั้งช่วยลดการใช้พลังงานของประเทศได้ 12% ในช่วงปี 2564-2565
4. สวิตเซอร์แลนด์ (คะแนน ETI 73.4)
การบังคับใช้ทางกฎหมายและมาตรการทางการเมืองที่เข้มงวดกวดขันคือดัชนีชี้วัดสำคัญในการให้คะแนน ETI ซึ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์กและเดนมาร์กกวาดคะแนนนำในหมวดหมู่ดังกล่าวในรายงานประจำปี 2567 นอกจากนี้สวิตเซอร์แลนด์ยังมีพรมแดนเชื่อมต่อกับหลายประเทศในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลีและออสเตรีย ดังนั้น ระบบพลังงานของสวิตเซอร์แลนด์จึงเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิอย่างยิ่งกับทวีปยุโรป ซึ่งช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับการใช้พลังงานของสวิตเซอร์แลนด์เองไปด้วย
ที่สำคัญ สวิตเซอร์แลนด์ยังมีแหล่งพลังงานน้ำที่ครอบคลุมกว้างขวาง ซึ่งช่วยให้ประเทศใช้พลังงานผสมผสานกันหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่กำลังเร่งพัฒนาอยู่ รายงานยังเผยด้วยว่าสวิตเซอร์แลนด์มีคะแนนติดกลุ่มนำในด้านความยั่งยืนไล่เรียงมากับประเทศแอลเบเนีย คอสตาริกา ปารากวัยและสวีเดน
3. ฟินแลนด์ (คะแนน ETI 74.5)
ฟินแลนด์ได้ประโยชน์ล้นหลามจากการเป็นผู้เล่นในตลาดพลังงานของกลุ่มประเทศนอร์ดิก อันได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ซึ่งกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้แข่งขันกันพัฒนาความปลอดภัยด้านพลังงานในประเทศของตน รวมทั้งฟินแลนด์ยังมีแผนรับมือวิกฤตพลังงานที่เกิดบ่อยยิ่งขึ้นในยุโรปและทั่วโลกมาหลายปีแล้ว
ฟินแลนด์ยังรั้งอันดับ 2 ตามหลังจีนในฐานะประเทศที่มีผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ที่เกิดจากการลงทุนในพลังงานสะอาดมากที่สุดในโลกในปี 2567
2. เดนมาร์ก (คะแนน ETI 75.2)
เดนมาร์กได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมพลังงานลมอันดับต้น ๆ ของโลกมาตั้งแต่เกือบ 50 ปีก่อน บริษัทเอกชนด้านพลังงาน อาทิ Vestas และ Ørsted จึงเต็มไปด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านพลังงานที่ในวันนี้ยกระดับไปมากกว่าแค่พลังงานลมไปไกลมากแล้ว และได้พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่า เดนมาร์กสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้โดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ได้เกือบ 24 ชั่วโมงตลอดทั้งปี ทั้งยังได้รับประโยชน์การภูมิประเทศที่เชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและกลุ่มประเทศนอร์ดิกที่ล้วนแล้วแต่มีนวัตกรรมด้านพลังงานที่ก้าวหน้า ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดของเดนมาร์ก จึงเป็นผลมาจากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ ร่วมกับการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด
- สวีเดน (คะแนน ETI 78.4)
การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดของสวีเดนไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ทว่า รัฐบาลมีวิสัยทัศน์ด้านพลังงานสะอาดมาตั้งแต่ครึ่งค่อนศตวรรษก่อนหน้านี้แล้ว ในช่วงที่ประเทศยังพึ่งพิงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก ซึ่งสวีเดนได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2516 นับแต่นั้นสวีเดนจึงพยายามหันไปใช้พลังงานหลากหลายประเภทผสมผสานกัน ร่วมกับการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนอย่างมหาศาล ส่งผลให้สวีเดนครองแชมป์ดัชนี ETI ประจำปี 2567 จากผลงานโดดเด่นด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่เกื้อหนุนโดยนโยบายหลากหลายที่รวมไปถึงกลไกราคาการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่สวีเดนใช้มาหลายปีแล้วก่อนที่โลกจะสนใจเรื่องนี้กัน
ส่วนประเทศไทยได้คะแนน ETI 55.8 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 60 จาก 120 ประเทศ และเป็นคะแนนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2567 ที่ 56.5 คะแนน ทั้งนี้ ประเทศที่ได้คะแนน ETI อันดับ 1 ในอาเซียน คือ เวียดนาม 61.0 คะแนนในลำดับที่ 32มาเลเซีย 60.1 คะแนนในลำดับที่ 40 และอินโดนีเซีย 56.7 คะแนนในลำดับที่ 54
ส่วนประเทศในอาเซียนที่ได้คะแนนน้อยกว่าไทย ได้แก่ สิงคโปร์ 55 คะแนนในลำดับที่ 64 สปป.ลาว 53.5 คะแนนในลำดับที่ 72 กัมพูชา 52.9 คะแนนในลำดับที่ 77 บรูไน 50.3 คะแนนในลำดับที่ 96 และฟิลิปปินส์ 48.8 คะแนนในลำดับที่ 105
รูปโดย Rawpixel และ Freepik