นักวิจัยด้านวิศวกรรมพลังงานหมุนเวียนจาก ‘The University of New South Wales’ ออสเตรเลีย คาดการณ์ว่า ขยะจากแผงโซลาร์เซลล์จะเข้าขั้นวิกฤตภายในปี 2030 ซึ่งจะเกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย
พลังงานทางเลือกจากโซลาร์เซลล์เป็นทางออกของหลายคน แต่ก็คงมีประเด็นปัญหาเรื่องการกำจัดซากขยะแผงโซลาร์หลังหมดอายุการใช้งาน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยราว 20 ปี โดยไทยกำลังต้องเผชิญกับประเด็นปัญหาดังกล่าวในอีกระยะ 3 ปีข้างหน้าเช่นกัน
โดยรัฐวิกตอเรีย เป็นรัฐเดียวในออสเตรเลีย ที่ยกเลิกการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์ด้วยการฝังกลบ แต่ในการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์กลับมีค่าใช้จ่ายประมาณ 10-20 ดอลลาร์ต่อแผง ( 300-700 บาท) ทำให้ลดแรงจูงใจในการรีไซเคิลเข้าไปอีก
ปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้ในออสเตรเลีย 90% นำเข้าจากประเทศจีน และมีการส่งออกไปกำจัดในประเทศจีนเช่นกัน ทำให้โครงสร้างด้านการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ของออสเตรเลียไม่แข็งแรงมากนัก สวนทางกับปริมาณการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในครัวเรือน
.
ต่อมารัฐบาลกลางได้ประกาศเพิ่มทุนสนับสนุน 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มจำนวนแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตในออสเตรเลีย ซึ่งจะทำให้แผงโซลาร์เซลล์ที่ถูกผลิตออกแบบนั้นสามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น และออสเตรเลียยังคงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ซับซ้อนในการสกัดโลหะมีค่า และต้องเพิ่มการจัดตั้งศูนย์รีไซเคิลในเขตเมืองใหญ่ต่าง ๆ ด้วย
.
ส่วนไทย พบว่า ขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวทางการกำจัดได้หลายวิธี แต่วิธีการฝังกลบและการเผาอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยมนุษย์และสัตว์เป็นอย่างมาก จากสารโลหะหนักที่ประกอบในแผงโซลาร์เซลล์ อย่างสารตะกั่ว สารหนู และปรอท
.
ดังนั้น จึงทำให้หลายฝ่ายให้ความสนใจวิธีการรีไซเคิลที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทั้งยังเกิดผลดีในเชิงเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลว่า แผงโซลาร์เซลล์ประกอบด้วยโลหะมีค่า เช่น เงิน ทองแดง ตะกั่ว อะลูมิเนียม ที่สามารถสกัดแยกมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องประดับ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ได้อีกทาง
รูปโดย: PV Cycle