Grid Brief

  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ทำให้หลายคนต้องกลับมา Work from Home (WFH) อีกครั้ง จึงควรจัดเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการทำงานที่บ้าน
  • อานิสงส์จากการจัดบ้าน ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง ทำงานได้อย่างผ่อนคลาย ไม่เครียด และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ไอเดียการจัดบ้าน มีตั้งแต่การจัดบ้านเพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกสุขลักษณะ ด้วยการจัดมุมทำงาน วางโต๊ะทำงานให้ถูกต้อง จัดท่านั่งให้เหมาะสม ไปจนถึงการตั้งกฎการ WFH ที่ช่วยให้การทำงานที่บ้านไม่ตึงเครียดเกินไป

เทรนด์การ Work from Home (WFH) เกิดขึ้นตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่แล้ว (พ.ศ.2563) กระทั่งล่าสุดที่เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้งในเมืองไทย ส่งผลให้หลายคนต้องกลับมา WFH อีกครั้ง แม้จะเคยมีประสบการณ์กันมาบ้างแล้ว แต่การเตรียมพื้นที่ในบ้านให้พร้อมสำหรับการ WFH ที่ถูกสุขลักษณะและอำนวยความสะดวกสบาย  ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม  เราจึงมีเทคนิคการจัดบ้านง่ายๆ มาบอกกัน

จัดบ้านให้พร้อม WFH ดีต่อใจและสุขภาพอย่างไร

การจัดบ้านให้เหมาะสมกับการทำงานเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างบรรยากาศที่ดี ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง เกิดความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังช่วยลดความเครียดระหว่างการทำงาน ส่งผลให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย เริ่มต้นด้วยการจัดพื้นที่ทำงานและโต๊ะทำงานให้ถูกสุขลักษณะกันก่อน

หามุมทำงานที่เหมาะกับบ้าน

ใครที่พื้นที่บ้านแคบหรืออยู่ในคอนโด ไม่ต้องกังวลไป เรามีไอเดียดีๆ ในการจัดมุมทำงานแบบง่ายๆ มาฝากกัน เช่น การพับที่นอนเพื่อเคลียร์พื้นที่บนเตียง ให้เป็นที่วางโต๊ะเล็กๆ สำหรับวางโน้ตบุ๊ก นี่เป็นหลักการบริหารพื้นที่ใช้งานแบบทับซ้อนให้เหมาะกับกิจกรรมและเวลาอย่างหนึ่ง


ตั้งโต๊ะทำงานให้เหมาะกับความชอบตัวเอง

การเลือกตำแหน่งตั้งโต๊ะทำงานส่งผลกับการทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็น หันข้างให้หน้าต่าง ช่วยให้จดจ่อกับการทำงานได้ดีขึ้น และยังเป็นที่พักสายตาและรับแสงจากธรรมชาติได้ หันหน้าเข้าผนัง เหมาะกับคนที่ต้องการสมาธิในการทำงานมากเป็นพิเศษ หันหน้าเข้าหน้าต่าง ใครที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน การตั้งโต๊ะทำงานแบบนี้ช่วยได้

สำหรับท่านั่งทำงานที่สบาย คือ เท้าจรดพื้น และ เข่าตั้งฉากอยู่ในระดับเดียวกับสะโพก นั่งให้เต็มก้น หลังตรงแนบกับพนักพิง ไม่โน้มตัวเข้าหาหน้าจอ ไม่เกร็งหรือห่อไหล่ ถ้าที่นั่งเก้าอี้ลึกเกินไป ควรใช้หมอนหนุนหลัง ส่วนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ควรปรับให้ตรงหน้าในระดับสายตา หรือต่ำกว่าสายตาเล็กน้อย เพื่อไม่ต้องก้มหรือแหงนคอมากเกินไป และ ควรมีระยะห่างจากหน้าจอประมาณหนึ่งช่วงแขน ขณะที่แป้นคีย์บอร์ดอยู่ในระดับเดียวกับข้อศอก เวลาใช้เมาส์ให้พักข้อศอกบนที่รองแขน

ตั้งกฎการพัก เพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อไม่ให้จดจ่อกับการทำงานจนเครียดโดยไม่รู้ตัว หรือไม่สติหลุดไปกับโซเชียลมีเดียจนเกินไป ขอแนะนำให้ตั้ง “กฎการพัก” ให้ตัวเองและต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น พักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทุก 20 นาที เปลี่ยนอิริยาบถทุก 30 นาที ลุกเดินทุก 1 ชั่วโมง จัดเวลาให้กับการออกกำลังกาย สัก 3 วันต่อสัปดาห์ วันละไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง และเมื่อถึงเวลาพักเที่ยงหรือเบรกช่วงบ่าย ลองเปลี่ยนมุมนั่ง หยุดคิดเรื่องงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ มาเขียนบันทึกในสมุดก็เป็นการพักสมอง


เตรียมตัวช่วยให้พร้อม เพื่อการทำงานที่ราบรื่น

ตัวช่วยในที่นี้ได้แก่ อุปกรณ์ในการทำงานต่าง ๆ เช่น หูฟังพร้อมไมค์ ช่วยสร้างสมาธิตัดเสียงรบกวนรอบตัวเมื่อต้องประชุมออนไลน์ได้ หรือจัดกล่องเครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงานที่จำเป็นต้องใช้ไว้ข้างตัว พร้อมดาวน์โหลดโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่จำเป็น ช่วยให้การสื่อสารในการทำงานง่ายขึ้น เช่น Zoom, Google Meet เป็นต้น

WFH โอกาสในการสร้างสมดุลกายใจไปพร้อมกัน

การทำงานที่บ้านเปิดโอกาสให้หลายคนมีเวลามากขึ้น จากที่เคยใช้เวลาไปกับการเดินทาง ทำให้สามารถทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบได้ หรือมีเวลาหันมาดูแลสุขภาพกายใจด้วย เป็นการสร้าง Work Life Balance หรือสมดุลการทำงานกับการใช้ชีวิต เช่น การปลูกผักกินเอง ปลูกเห็ด เลี้ยงปลาตู้ จัดสวนกระถาง ไม่แน่ว่าเมื่อวิกฤตนี้ผ่านพ้นไปหลายคนอาจมีอาชีพเสริมสร้างรายได้เพิ่มจากงานประจำ

Cover Illustration โดย Pattanaphoom P.