Grid Brief
- เป็นไปได้ถึง 50% ว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 1.4-1.5 องศาเซลเซียสในปี 2567 ซึ่งมาก่อนเวลาที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดไว้ 77 ปี
- ในปี 2566 มีจำนวนวันที่โลกร้อนขึ้นกว่าปีก่อนหน้านั้นมากถึง 200 วัน
- อุณหภูมิในอากาศสูงขึ้นอย่างผิดปกติ เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) และช่วงต้นปี 2567 ปรากฏการณ์เอลนีโญไปถึงจุดเข้มข้นสูงสุด ปี 2567 จึงอาจเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการเก็บสถิติมา
หมีขั้วโลกออกมาเดินสะลึมสะลือในฤดูหนาว เพราะอากาศอุ่นขึ้นเกินกว่าจะจำศีล เกิดไฟป่ารุนแรงในแคนาดาและสหรัฐฯ มีภัยแล้งและน้ำท่วมที่กินเวลายาวนานทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ฯลฯ เหตุการณ์เหล่านี้คือข้อความจากโลกที่กำลังบอกเราว่าอะไร?
ปีนี้ร้อนกว่าปีที่แล้ว ปีหน้าจะร้อนกว่าปีนี้
ดร.เจมส์ แฮนสัน (Dr. James Hansen) นักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกเอกสารทางวิชาการเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 มีสาระสำคัญว่า “อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกปี 2566 จะสูงกว่าปี 2565” และ “ปี 2567 โลกจะร้อนกว่าปี 2566 และมีความเป็นไปได้ประมาณ 50% ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงถึง 1.4-1.5 องศาเซลเซียส”
ผลการพยากรณ์ชิ้นก่อน ๆ กำหนดว่า โลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในอีก 3-4 ปี แต่เอกสารล่าสุดนี้คาดการณ์ว่าจะมาเร็วกว่านั้นอีก
เมื่อปี 2558 องค์การสหประชาชาติได้รณรงค์เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกในปี 2643 หรือในอีก 77 ปีข้างหน้าสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมที่มนุษย์เริ่มเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลในปริมาณมหาศาล
หากดูสถิติย้อนหลังของอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกที่สูงที่สุดหรือร้อนที่สุด 10 อันดับแรก ซึ่งเปรียบเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง พ.ศ. 2423 – 2463 ซึ่งเป็นยุคก่อนอุตสาหกรรมและหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติได้ 2 ปี บางรายงานเทียบกับช่วง พ.ศ. 2393 – 2564 และยังมีรายงานอื่น ๆ ที่จัดอันดับแตกต่างกันออกไป ทว่า ได้สรุปตรงกันว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกร้อนขึ้นในอัตราเร่ง ไม่ใช่ร้อนขึ้นในอัตราคงที่
ข้อมูลของหน่วยบริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service) ของยุโรปยังพบว่า มีจำนวนวันมากกว่า 200 วันในปี 2566 ที่ทำสถิติอากาศร้อนสูงสุดครั้งใหม่เมื่อเทียบกับวันเดียวกันของปีก่อนหน้าทั้งหมดที่เคยมีการบันทึก ทั้งนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกที่ร้อนที่สุด 10 อันดับเพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 13 ปีที่ผ่านมานี้เอง จนแทบจะเรียกได้ว่าโลกร้อนขึ้นทุกปี
ผ้าห่มโลกหนาขึ้น
สาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ก็คือ ‘ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเข้มข้นขึ้น’ และทำหน้าที่เสมือนผ้าห่มโลก โดย 80% ของก๊าซเรือนกระจกคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ต่อให้ชาวโลกสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ แต่ผ้าห่มโลกจะยังคงขึ้นไปเรื่อย ๆ เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกสลายตัวช้ามาก
ยิ่งก๊าซเรือนกระจกเข้มข้นขึ้น อุณหภูมิโลกจะยิ่งผิดปกติขึ้น ดร.เจมส์ แฮนสัน กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิโลกไม่สมดุลขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อคิดรวมกันทั้งโลกก็เท่ากับความร้อนจากระเบิดนิวเคลียร์ถล่มเมืองฮิโรชิมา 8 แสนลูกทุกวันเลยทีเดียว
เมื่อโลกร้อนขึ้นยังส่งผลให้เกิดเอลนีโญ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเพิ่มขึ้น ทำให้กระแสน้ำอุ่นย้อนมาทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ส่งผลให้น้ำทะเลร้อนขึ้น ฝนตกน้อยลง แห้งแล้ง และมีแนวโน้มเกิดไฟป่ารุนแรงขึ้น ซึ่งเมื่อช่วงต้นปี 2567 นี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญไปถึงจุดเข้มข้นสูงสุด จึงเป็นอีกแรงส่งที่จะยิ่งทำให้อุณหภูมิของโลกสูงถึง 1.4-1.5 องศาเซลเซียส
โลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสสำคัญอย่างไร
รายงานพิเศษโดยนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติในปี 2561 เขียนถึงผลกระทบของอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นว่า ในปี 2643 โลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ผู้คนกว่า 250 ล้านคนต้องเผชิญกับวิกฤตภัยแล้ง ประชากรราว ๆ 410 ล้านคนจะเจอน้ำท่วม 100% พลเมืองกว่า 700 ล้านคน หรือ 9% ของจำนวนประชากรโลกจะทุกข์ทรมานจากคลื่นความร้อนรุนแรง ปะการังจะลดลง 70-90%
การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติบ่อยและรุนแรงขึ้น แล้วยังเกิดในช่วงเวลาที่ปกติแล้วจะไม่เกิด ซึ่งจะกระทบต่อสายพานการผลิตของโลกในที่สุด
ภัยธรรมชาติรุนแรงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ความร้อนที่ทำลายสถิติโลกนี้ทิ้งร่องรอยหายนะไว้ตลอดปี 2566 อาทิ คลื่นความร้อนสูง ไฟป่าในแคนาดาและสหรัฐฯ ภัยแล้งอันยาวนานและน้ำท่วมทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ปริมาณน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้) ลดต่ำลงจนน่าตกใจ ระดับน้ำแข็งทะเลในขั้วโลกเหนือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ธารน้ำแข็งทางตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือและบนเทือกเขาแอลป์ในยุโรปละลายอย่างรุนแรง ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ไปจนถึงอุณหภูมิผิวน้ำทะเลทั่วโลกทำสถิติสูงสุด เกิดคลื่นความร้อนหลายระลอกในทะเล ฯลฯ
กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า เป็นไปได้ว่าในปี 2567 อุณหภูมิเฉลี่ยโลกอาจสูงเกินกว่าเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียสตลอดปีปฏิทินเป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ให้กำลังใจว่า ในสงครามทางสภาพอากาศนี้ มนุษยชาติอาจไปจบที่โลกร้อนขึ้น 1.6 องศาเซลเซียส ซึ่งเกินกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ ทว่ายั งดีกว่าการยอมแพ้และปล่อยให้มันลงเอยด้วยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียส ซึ่งทุกสิ่งที่เราเคยมีจะปลาสนาการไปหมดสิ้น และหากเราไม่ลงมือทำอะไร ไม่มีการเปลี่ยนนโยบายระดับประเทศเลย โลกจะไปถึงจุดนั้นอย่างแน่นอน ดังนั้น ทุกจุดทศนิยมของแต่ละองศาจึงสำคัญอย่างยิ่งยวด
ที่มา
- https://thaipublica.org/2023/01/thai-climate-justice-for-all25/
- https://www.bbc.com/thai/articles/cv2ddn1v49ro
- https://www.carbonbrief.org/state-of-the-climate-2023-smashes-records-for-surface-temperature-and-ocean-heat/
- https://earth.org/critical-1-5c-global-warming-threshold-breached-over-12-month-period-for-first-time/
- https://www.conference-board.org/topics/climate-change/climate-action-why-half-a-degree-matters
รูปปกโดย: kamchatka