Grid Brief
- เมื่อสมองเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย จึงควรใส่ใจดูแลสมอง ซึ่งมีทั้งสิ่งที่ควรทำ เช่น การอ่านหนังสือ การฟังเพลงคลาสสิก การกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง และสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น การหมกมุ่นอยู่กับความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ
- การออกกำลังกายให้สมองนั้นง่ายกว่าที่คิด แค่เล่นเกมที่ใช้ความคิด อย่างหมากรุก อักษรไขว้ หรือเล่นรูบิค หรือเคลื่อนไหวร่างกายด้วยท่าทางต่าง ๆ เช่น วิ่งเหยาะ ๆ อยู่กับที่ หรือเล่นโยคะ
ในทางการแพทย์ สมองคือตัวชี้วัดการมีชีวิตอยู่ของคน เพราะแกนสมองคือส่วนที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ แต่สมองกลับเป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานหนักอย่างต่อเนื่องยาวนาน และพฤติกรรมต่าง ๆ ของเราอาจเป็นการทำร้ายสมองอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกด้วย เช่น การจดจ่ออยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานเกินไป การเครียดสะสม การพักผ่อนไม่เพียงพอ การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการไม่ชอบใช้ความคิด หรือแม้แต่การนอนคลุมโปงที่ทำให้ออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง ฉะนั้น เราจึงมีกิจกรรมที่ทำแล้วช่วยให้สมองรู้สึกตื่นตัวมาฝากกัน
1. ดนตรีช่วยสมองได้
มนุษย์เรารู้จักจังหวะจากเสียงเต้นของหัวใจแม่มาตั้งแต่ตอนอยู่ในครรภ์ ทำให้เราคุ้นชินกับดนตรีมาตั้งแต่เกิด สำหรับเด็ก ๆ ดนตรีช่วยพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของสมองได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้ใหญ่เสียงดนตรีช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้และช่วยให้มีสมาธิดีขึ้นด้วย เราจึงควรหมั่นฟังเพลง ร้องเพลง เต้นรำ หรือแต่งเพลง
2. เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
ทลายกำแพงความคิดที่ขวางกั้นคุณไม่ให้เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะภาษาใหม่ เทคโนโลยีต่าง ๆ การเดินทางไปสถานที่ใหม่ ๆ หรือฝึกทักษะด้านที่ไม่เคยทำมาก่อน เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยพัฒนาสมองได้ แม้แต่ในผู้สูงวัยก็มีงานวิจัยว่า การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ช่วยให้สมองอ่อนเยาว์ลงได้ถึง 30 ปี
3. ออกกำลังกายสมอง
ไม่ต้องเสียเวลาเสียเงินไปเข้ายิมที่ไหน เพราะการชวนสมองมาออกกำลังกายทำได้ด้วยการเล่นเกมที่ใช้ความคิดลับสมอง เช่น หมากรุก อักษรไขว้ เกมปริศนาตัวเลข เล่นรูบิค
4. กินอาหารบำรุงสมอง
บรรดาอาหารที่ช่วยในการบำรุงสมอง ได้แก่ ปลาทะเลน้ำลึกอย่างทูน่า แซลมอน ปลาทู หรือปลาน้ำจืดที่มีไขมันสูงอย่างปลาช่อน ปลาสวาย หรือน้ำมันตับปลา ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผักโขม น้ำมันมะกอก ไข่ แครอท พืชตระกูลถั่ว ธัญพืช แอปเปิล ช็อกโกแลต แปะก๊วย รวมถึงการดื่มน้ำเปล่าด้วย
5. อ่านหนังสือ
ในแต่ละคำที่อ่านจะไปกระตุ้นระบบประสาทของสมองหลายส่วนให้ทำงานเป็นระบบความคิดที่ซับซ้อน นอกจากนี้คุณควรสลับวิธีอ่านของคุณ เช่น เปลี่ยนจากการอ่านในใจมาอ่านออกเสียงบ้าง
6. คลายเครียดให้สมอง
ความเครียดเป็นตัวการขัดขวางการคิดและการเรียนรู้ ทั้งยังปล่อยสารเคมีออกมาซึ่งทำให้โครงสร้างของสมองแปรปรวน เกิดภาวะสมองล้าได้ และทำลายสมองได้ ฉะนั้น ควรหากิจกรรมที่บรรเทาความเครียด งานอดิเรกที่คุณชอบหรือช่วยให้ได้ยิ้มหรือหัวเราะ และอารมณ์ดีอยู่เสมอ
7. ปรับกิจวัตรให้ไม่จำเจ
ทุกครั้งที่ได้ทำในสิ่งที่ไม่เหมือนเดิมถือเป็นการบริหารสมองที่ไม่ค่อยได้ใช้ ซึ่งฝึกทำได้ตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ อย่างการลองกินเมนูใหม่ เปลี่ยนมุมในบ้าน จัดสวน แปรงฟันหรือหวีผมด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด
8. บริหารสมองสองซีก
ดร.พอล เดนนิสัน นักประสาทวิทยาชาวอเมริกันเป็นผู้พัฒนากิจกรรม Brain Gym เป็นกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางร่างกาย แต่ส่งผลให้สมองทั้งซีกซ้ายและขวาได้ทำงานประสานกันมากขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ ทำให้สมองตื่นตัว และมีสมาธิมากขึ้น แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1) การเคลื่อนไหวสลับข้าง (วิ่งเหยาะ ๆ อยู่กับที่) 2) การยืดส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (ท่าโยคะต่าง ๆ) 3) การเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้น (กดจุดร่างกาย นวดใบหู นวดขมับ) และ 4) ท่าบริหารร่างกายง่าย ๆ (ใช้สองมือปิดตาที่ลืมอยู่จนมองเห็นความมืดสนิทแล้วค่อย ๆ เอามือออก)
9. พักผ่อนให้เพียงพอ
รู้หรือไม่ว่า การพักผ่อนสมองที่ดีที่สุดก็คือการนอนหลับนั่นเอง เพราะหน้าที่หนึ่งของสมองคือการสั่งการให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานตามกลไกของร่างกาย ฉะนั้น เมื่อไหร่ที่คุณอดนอน นอนไม่พอ หรือนอนไม่มีประสิทธิภาพ อาการฟ้องจากสมองคือการคิดไม่ค่อยออก เบลอ และทำสิ่งต่าง ๆ ได้ช้าลง
ที่มา
- https://www.neurogenius.com/index.php?route=information/blog&blog_id=2-th.html https://mgronline.com/live/detail/9520000143392
- https://www.kroobannok.com/60320
- https://www.bangkokpattayahospital.com/th/healthcare-services-th/neuroscience-center-th/item/1822-britht-brian-th.html
- https://mgronline.com/live/detail/9520000143392