Grid Brief
- การปลูกต้นไม้ตามทฤษฎีการปลูกป่าของ ‘มิยาวากิ’ เป็นการเน้นปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น โดยแต่ละตารางเมตรให้ปลูกต้นไม้ 4 ต้น ที่มีระดับความสูงต่างกัน
- ช่วงหน้าฝนของทุกปี ที่ ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ สถานีเพาะชำกล้าไม้ และหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ของสำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ มีการแจกกล้าไม้ป่า เช่น สัก พะยูง ประดู่ มะฮอกกานี ฯลฯ ให้ฟรี คนละ 1,500 ต้น!
มหัศจรรย์ ‘ต้นไม้’
เมื่อหน้าฝนมา คนรักต้นไม้ได้ยิ้มรื่น เพราะเป็นเทศกาลปลูกป่า ที่หลายประเทศมีการแจกกล้าไม้ให้ฟรี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เหมาะกับสภาวการณ์วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกในปัจจุบัน เพราะ ‘ต้นไม้’ ถือเป็นเครื่องฟอกอากาศที่สู้กับปัญหาฝุ่น PM 2.5 การเกิดไฟป่าและปัญหาโลกร้อนได้ดีและยั่งยืนที่สุด
ทีมนักวิจัยนานาชาติจาก ETH Zurich มหาวิทยาลัยในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการคิดค้นวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้สำรวจจำนวนป่าไม้ทั่วโลก แล้วนำมาสร้างโมเดลจำลองเพื่อดูความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูสภาพป่า เมื่อได้ผลสรุป จึงตีพิมพ์ในวารสาร Science ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2562 ว่า ระบบนิเวศโลกต้องการพื้นที่ป่าจำนวน 5,625 ล้านไร่ เทียบเป็นจำนวนต้นไม้ที่ต้องปลูกเพิ่มอีก 5 แสนล้านต้น
จากข้อมูลพบว่า ตลอดช่วงชีวิตของต้นไม้ 1 ต้น ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 200 กิโลกรัม หรือเทียบเท่าปริมาณก๊าซของเสียที่ปล่อยออกมาจากรถที่วิ่งเป็นระยะทาง 805 กิโลเมตร
อริค ฟรอมม์ นักจิตวิเคราะห์ชาวเยอรมันให้นิยามศัพท์ที่มีรากมาจากภาษากรีก ‘Biophilia’ ไว้ว่า ‘ความปรารถนาของมนุษย์ที่เชื่อมโยงชีวภาพเข้ากับธรรมชาติ’ ซึ่งไม่ใช่เพื่อการมีชีวิตรอด แต่เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเหมาะกับยุคปัจจุบันที่ผู้คนเครียดจากโลกภายนอก จึงต้องการ ‘บ้าน’ ที่นอกจากให้ความรู้สึกปลอดภัยทั้งทางกายและใจแล้ว ยังให้ความสงบและรื่นรมย์ในชีวิตได้ด้วย ดังนั้น BiophiliaDesign สไตล์การจัดบ้านที่ใช้พลังธรรมชาติในการบำบัดชีวิตอย่างไร้ขีดจำกัด จึงเป็นกระแสมาแรงในแวดวงออกแบบและตกแต่งบ้านของปีนี้
เมื่อ พ.ศ. 2547 มีการมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ให้แก่ Wangari Maathai ชาวเคนยา จากการที่เธอรณรงค์ให้ผู้หญิงแอฟริกันมาปลูกต้นไม้ในท้องถิ่นตนเองเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าสำหรับทำการเกษตร ทำให้เกิดการปลูกต้นไม้ถึง 30 ล้านต้น ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2562 รัฐบาลเอธิโอเปียจัดแคมเปญ Green Legacy ชวนประชาชนมาปลูกต้นไม้เพื่อเป็นมรดกให้คนรุ่นต่อไป ซึ่งแคมเปญนี้กลายเป็นสถิติโลกจากจำนวนประชาชน 23 ล้านคนที่มาช่วยกันปลูกกล้าไม้ที่เพาะจากเมล็ด ทำให้มีการปลูกต้นไม้รวมกว่า 350 ล้านต้น ภายในเวลา 12 ชั่วโมง
ปลูกป่าในพื้นที่แค่เมตรเดียว
การปลูกต้นไม้เป็นเรื่องดี แต่จะดูแลรักษาอย่างไร จะเอาพื้นที่ที่ไหนมาปลูก ศ.ดร.อาคิระ มิยาวากิ ผู้สร้างทฤษฎีปลูกป่าเลียนแบบระบบนิเวศตามธรรมชาติที่ได้รับการยอมรับและนำไปปฏิบัติตามทั่วโลก ซึ่งจากสถิติมีอัตราการรอดสูงถึง 90% และใช้พื้นที่เริ่มต้นแค่ 1 ตารางเมตร ด้วยวิธีการดังนี้
- ปลูกพันธุ์ไม้ที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น เพราะเหมาะกับสภาพดินและอากาศ ทำให้ต้นไม้ปรับตัวง่าย และรับมือกับศัตรูพืชได้
- ปลูกต้นไม้ที่เพาะจากเมล็ดเพื่อให้มีระบบรากแข็งแรง
- ปลูกพันธุ์ไม้หลายระดับ ทั้งไม้ยืนต้น (Tree) ไม้พุ่ม (Shrub) และไม้พื้นล่าง (Herb) เพื่อให้รากและยอดไม้อยู่ต่างระดับกัน
- ความถี่ในการปลูกต้นไม้คือ 4 ต้นต่อพื้นที่ปลูก 1 ตารางเมตร และไม่ปลูกเป็นแถว เพื่อให้เหมือนป่าที่มีต้นไม้ขึ้นระเกะระกะ
- ก่อนปลูกให้ทำเนินดิน เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวดิน ไว้ให้ช่วงแรกของกล้าไม้มีการระบายน้ำและอากาศได้ดีขึ้น
- เตรียมดินให้มีธาตุอาหารเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของต้นไม้ในช่วง 3 ปีแรก โดยใช้เศษอาหาร เศษใบไม้ หรือถอนหญ้ามาวางบนดินแล้วรดน้ำให้ชุ่มทิ้งไว้จนเกิดการย่อยสลาย ลองสังเกตดูจะพบว่า จากดินแข็ง ๆ หรือดินทรายสีเหลืองที่บ่งบอกถึงการมีธาตุอาหารน้อย ก็จะกลายเป็นดินสีดำร่วนซุยที่เต็มไปด้วยอินทรียวัตถุ
- การแช่กล้าไม้ในน้ำก่อนปลูกจะช่วยกระตุ้นให้รากงอกออกมาได้ดีขึ้น
- คลุมรอบหลุมที่ปลูกด้วยเศษใบไม้หรือต้นหญ้า แล้วคลุมฟางหนา ๆ อีกชั้น เศษหญ้าจะย่อยสลายเป็นปุ๋ยให้กล้าไม้ ส่วนฟางช่วยเก็บความชื้นในดิน แม้ไม่รดน้ำตลอด 1 เดือน ต้นไม้ก็ยังอยู่รอดได้
ใครที่อยากช่วยกันปลูกป่าในพื้นที่ของตัวเอง สามารถติดต่อขอรับกล้าไม้ป่าได้ฟรี คนละ 1,500 ต้น ที่ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ สถานีเพาะชำกล้าไม้ และหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ของสำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ ซึ่งในปีนี้มีกล้าไม้ เช่น สัก พะยูง มะค่าโมง ประดู่ ยางนา มะฮอกกานี ตะเคียน ทอง แดง กระถินลูกผสม กฤษณา ฯลฯ แจกฟรีรวมถึง 79.9 ล้านกล้า!
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร.02-561-4292 ถึง 3 ต่อ 5551