Grid Brief

  • อาการที่ชอบเก็บสะสมของถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคย้ำคิดย้ำทำที่เรียกว่า Hoarding Disorder ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมเก็บสะสมของจนส่งกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่
  • ผู้ป่วยโรค Hoarding Disorder แตกต่างจากนักสะสมของตรงที่ มักเก็บของไม่เป็นระเบียบ กระจายเต็มพื้นที่จนไม่สามารถนำมาใช้งานได้ ส่วนนักสะสมเลือกเก็บเฉพาะของที่สนใจและหยิบมาใช้งานได้ทุกเมื่อ

อันนี้ก็เสียดาย อันนั้นก็ยังใช้ได้ ทุกสิ่งในบ้านก็คิดจะเก็บและตัดใจทิ้งไม่ลง นี่อาจไม่ใช่เรื่องปกติวิสัย เพราะในทางการแพทย์ถือว่าเป็นโรคทางจิตเวช หรือโรคชอบเก็บสะสมของ 

ชอบเก็บ แต่ไม่ยอมทิ้ง 

โรคชอบเก็บสะสมของ (Hoarding Disorder) มักพบในกลุ่มคนอายุ 55 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยมักมีโรคทางระบบประสาทและสมองร่วมด้วย เช่น โรคสมองเสื่อม เส้นเลือดในสมองมีปัญหา และสามารถพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้ อาทิ โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า โรคทางจิตเภท โรคนี้ส่งต่อกันได้ทางพันธุกรรม บางรายอาจเริ่มมีอาการตั้งแต่วัยรุ่น แต่อาการอาจยังไม่ปรากฏชัด และยังจัดการกับข้าวของตนเองไว้ได้ 

วิธีสังเกตอาการ หลักๆ มักเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมเก็บของทุกอย่างไว้ แม้จะเป็นสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ได้มีมูลค่ามากมาย แม้ว่าของเหล่านั้นอาจดูเป็นขยะในสายตาผู้อื่น แต่สำหรับผู้ป่วยโรค Hoarding Disorder กลับไม่อาจตัดใจทิ้งของเหล่านี้ได้ เพราะคิดว่าอาจได้ใช้ประโยชน์ในอนาคต

อาการของโรคชอบเก็บสะสมของ 

  1. ยึดติดกับสิ่งของและเก็บสะสมไว้มากจนเกินจำเป็น และส่วนใหญ่มักเป็นของที่ไม่สามารถนำมา Reuse ได้ เช่น หลอดน้ำใช้แล้ว ถ้วยพลาสติก ถุงพลาสติก ใบเสร็จ กล่องลัง สัตว์เลี้ยง ที่เลี้ยงไว้แต่ไม่สามารถดูแลให้สัตว์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสมได้
  2. มักคิดว่าของที่เก็บไว้จะมีประโยชน์ในอนาคต “ฉันจะได้ใช้ในสักวัน” หรือ “ถ้ามีของอันนี้ ทำให้ฉันมีความสุข” ส่วนการตัดใจทิ้งของสักอย่าง เป็นเรื่องยากและส่งผลกระทบต่อจิตใจมาก จนแสดงอาการทางกายออกมาอย่างสังเกตได้ เช่น วิตกกังวลเมื่อมีใครนำของที่ตัวเองเก็บไว้ไปทิ้ง
  3. นอกจากมีสิ่งของที่เก็บไว้มากเกินความจำเป็นแล้ว ยังไม่สามารถจัดระเบียบได้ รวมถึงไม่ต้องการให้ใครแตะหรือยืมไปใช้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่เข้าใจกันในครอบครัว และเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยอยากแยกตัวออกจากผู้อื่น 
  4. เก็บสะสมสิ่งของมากจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตทั้งตนเองและคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขอนามัย หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เช่น เก็บสะสมของมากจนกลายเป็นที่อยู่ของสัตว์มีพิษ เดินสะดุดหรือสิ่งของเหล่านั้นล้มทับ เป็นต้น
Credit: Mediocre Studio

นักสะสมของ VS โรคชอบเก็บสะสมของ

ความแตกต่างของคนสองกลุ่มนี้ ดูได้จากวิธีจัดการสิ่งของ นักสะสมจะเก็บของอย่างเป็นระเบียบ หยิบง่าย ส่วนผู้ป่วยโรค Hoarding disorder จะเก็บของไม่เป็นระเบียบ และมักมีของชิ้นใหม่เพิ่มพูนมาเรื่อย ๆ ไปจนถึงการไม่ยอมทิ้งอะไรเลย หากจะหาของสักชิ้นต้องใช้เวลาค้นอยู่นาน อาทิ การเก็บหนังสือพิมพ์ นักสะสมอาจเลือกตัดเก็บบางคอลัมน์ที่ตนสนใจหรือเก็บหนังสือพิมพ์บางฉบับที่มีรูปสวยงาม นำมาจัดเรียงให้เป็นหมวดหมู่หรือตัดแปะลงสมุดสะสม แต่ถ้าผู้ป่วยโรค Hoarding Disorder จะเก็บหนังสือพิมพ์ไว้จนรก ไม่เป็นระเบียบ และไม่สามารถหยิบขึ้นมาอ่านได้

ผู้ป่วยโรค Hoarding Disorder แตกต่างจากนักสะสมของตรงที่ มักเก็บของไม่เป็นระเบียบ กระจายเต็มพื้นที่จนไม่สามารถนำมาใช้งานได้ ส่วนนักสะสมเลือกเก็บเฉพาะของที่สนใจและหยิบมาใช้งานได้ทุกเมื่อ

รักษาด้วยการกินยาและปรับเปลี่ยนวิธีคิด 

การรักษา มีสองวิธีคือ กินยาเพื่อปรับสารเคมีในสมอง มักใช้ยาแบบเดียวกับโรคย้ำคิดย้ำทำ อีกวิธีคือการทำจิตบำบัด โดยนักจิตบำบัดจะช่วยปรับความคิดเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงการเก็บสิ่งของและเลือกทิ้งของที่เกินความจำเป็นออกไป รวมไปถึงให้ตระหนักถึงความสะอาด วิธีนี้มักใช้เวลานาน เพราะเป็นการปรับจิตใจของผู้ป่วยให้เลือกทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็นด้วยตนเองและจะไม่กลับมาทำใหม่อีก

หลายบ้านอาจกำลังเผชิญกับปัญหาที่น่าปวดหัวนี้อยู่ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่บ้านเดียวกับผู้สูงวัย การหมั่นสังเกตพฤติกรรมคนในบ้าน และหากพบสัญญาณต่าง ๆ ดังกล่าว เบื้องต้นลองสอบถามเหตุผลการเก็บสะสมของเหล่านั้น หรือหากไม่มั่นใจ การพามาพบแพทย์น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

รูปปกโดย: Luca Laurence