Grid Brief

  • ท่ามกลางการใช้ชีวิตที่รีบเร่งในสังคม ทำให้มีหลายสิ่งที่ต้องทำ แต่การทำอะไรพร้อม ๆ กันกลับส่งผลเสียมากกว่าที่คิด ทั้งงานเสร็จล่าช้าลง มีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ และประสิทธิภาพการทำงานด้อยลงอีกด้วย
  • วิธีแก้คือการฝึกทำทีละอย่างโดยใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ และต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญของงานให้เป็น

ก่อนโรคโควิด-19 จะระบาด สร้างความปั่นป่วนและความวุ่นวายให้กับผู้คนทั่วโลก หลายธุรกิจต่างกำลังเผชิญกับสถานการณ์ Digital Disruption หรือการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้รูปแบบธุรกิจและการทำงานเปลี่ยนแปลงไป หนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่หลายองค์กรปรารถนา ก็คือพนักงานที่มีความสามารถหลากหลายด้าน (Multitasking) มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนขององค์กร แต่ ‘การทำได้หลายสิ่ง’ กับ ‘การทำหลายสิ่งพร้อมกัน’ นั้น เป็นคนละเรื่องเดียวกัน

ภาพวาดผู้หญิงกำลังเขียนหนังสือและในมือถือถ้วยกาแฟ

นี่คือ ‘พรสวรรค์’ จริงไหม

คุณอาจเคยนึกชมคนที่มีคิดเร็ว ทำเร็ว และทำหลายสิ่งได้ในเวลาเดียวกัน ว่าเป็นคนมีการจัดการที่ดี แต่ผลการวิจัยนี้อาจทำให้ต้องเปลี่ยนความคิดนั้นใหม่ เมื่อมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดระบุว่า ผู้ที่ทำงานทีละอย่างจะมีสมาธิ ความจำ และทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าผู้ที่ทำหลายสิ่งพร้อมกัน แม้ส่วนต่าง ๆ ของสมองที่มีหน้าที่ต่างกันจะทำให้คนเราทำได้หลายอย่าง แต่สมองจะจดจ่อได้ทีละอย่างเท่านั้น ฉะนั้น ทุกครั้งที่คุณสลับการทำงานไปมา สมองต้องเสียเวลาย้อนคิดว่างานนั้นทำไว้ถึงไหน แล้วเริ่มเรียบเรียงใหม่อีกครั้งเพื่อทำงานต่อ การกระทำเช่นนี้ส่งผลต่อการประมวลผลของสมอง ไม่เพียงทำให้งานนั้นเสร็จช้าลง แล้วยังอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ ทั้งยังส่งผลต่อการตัดสินใจอีกด้วย

โดยรวมแล้วการทำหลายสิ่งพร้อมกัน นอกจากทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงจากการขาดสมาธิที่ต่อเนื่องแล้ว ยังส่งผลต่อ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ อีกด้วย เพราะสมองไม่สามารถเชื่อมโยงความทรงจำเข้ากับสถานที่แปลกใหม่ได้ จากการที่ต้องคิดย้อนไปมาตลอดเวลา จนสมองจดจำการสนใจในช่วงสั้น ๆ

ภาพวาดคนกำลังอุ้มลูกและหนีบงานไว้ในแขนข้างเดียวกัน ส่วนอีกมือก็ถือถ้วยกาแฟ

แล้วคนที่ทำหลายสิ่งพร้อมกันได้ล่ะ

หลายคนคงนึกค้านอยู่ในใจ เพราะยุคนี้ไม่ว่าจะทำงาน ขับรถ กินข้าว หรือออกกำลังกาย ก็ต้องเสียบหูฟังไว้ฟังเพลง หรือไม่ก็ต้องขอหยิบมือถือขึ้นมาท่องโลกโซเชียลสักหน่อย สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถือเป็นการทำหลายอย่างพร้อมกัน แต่เกิดขึ้นเพราะสมองสั่งให้เราทำไปโดยอัตโนมัติต่างหาก 

ลองสังเกตตัวเองกันดูสิว่า ถ้าต้องทำสิ่งที่ยังไม่คุ้นเคยหรือไม่ถนัด เราจะตั้งใจ มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือตอนหัดขับรถใหม่ ๆ  คงไม่มีใครวอกแวกไปทำอย่างอื่น หรือในยามที่มีเรื่องไม่สบายใจ คุณอาจประหลาดใจที่ทำไมถึงขับรถไปถึงจุดหมายได้ทั้งที่ไม่มีสติ นั่นเพราะเป็นเส้นทางเดิมที่คุณเคยขับอยู่ทุกวัน สมองส่วนนี้จะสั่งการให้ร่างกายทำไปอย่างอัตโนมัติ

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เอิร์ล มิลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาแห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ยังบอกไว้ว่า ที่จริงแล้ว เราไม่ได้ทำหลายสิ่งในเวลาเดียวกันอย่างที่เข้าใจหรอก เราแค่ทำกิจกรรมนั้น ๆ สลับไปมาต่างหาก

รู้แล้วต้องรีบปรับแก้

การต้องทำงานทีละอย่าง ท่ามกลางงานกองโต สิ่งที่ช่วยคุณได้ก็คือการรู้จักจัดลำดับความสำคัญของแต่ละงาน ต่อมาต้องตั้งเป้าหมายและรู้ว่าตัวเองทำงานได้ดีในสภาวะแบบไหน พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่รบกวนสมาธิขณะทำงาน โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เว้นแต่ว่าเกี่ยวข้องกับงานที่คุณทำ หากมีเวลาหมั่นอ่านหนังสือหรือนั่งสมาธิจะช่วยให้เราจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำได้ดีขึ้น เพียงเท่านี้ก็เท่ากับคุณได้ลดละเลิกพฤติกรรมการทำหลายอย่างพร้อมกันได้แล้ว