Grid Brief

  • กิจกรรมของมนุษย์ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส
  • ประเทศไทยร่วมรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าหมายเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ใน พ.ศ. 2593
  • มาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero บูรณาการ 6 ด้านเข้าด้วยกัน ได้แก่ ด้านนโยบาย เทคโนโลยี การค้าการลงทุน การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต การเพิ่มแหล่งกักเก็บ/ดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และกฎหมายโดยศึกษาและร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

ดร.พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิต ได้เปิดการบรรยายในหัวข้อ ประเทศไทยกับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเปิดให้เห็นที่มาว่า เพราะเหตุใดประเทศไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องหันมาจริงจังกับปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ และชี้ให้เห็นที่ไปว่าประเทศไทยมีแนวทางและมาตรการใดบ้างที่จะนำไปสู่เป้าหมายลดอุณหภูมิโลกที่นานาประเทศล้วนให้ความสำคัญกันอยู่ในเวลานี้ 

Credit: Rorozoa

โลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลที่มีการบันทึกมาตลอดพบว่า ช่วงก่อนปี พ.ศ.2393-2443 หรือก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 1.1-1.5 องศาเซลเซียส

ตามรายงานของการประชุมระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า หากต้องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียส จะต้องมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดใน พ.ศ. 2568 แล้วลดลง 43% ในปี 2573 โดยต้องลดก๊าซมีเทนลงให้ได้ 34% เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากสุดคือก๊าซมีเทนที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ 

ใน พ.ศ. 2563 ทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 47,000 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 1 คือ จีน 25% รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา 12% ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 19 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 451 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือประมาณ 0.95% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก ทั้งนี้ ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เช่น จีน และประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ เมื่อติดตามสถานการณ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโลกแล้วพบว่า 

  1. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เป็นไปตามแนวทางที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียส 
  2. กิจกรรมของมนุษย์ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส

นำไปสู่ข้อสรุปในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP28) ดังต่อไปนี้ 

  1. ต้องเพิ่มพลังงานหมุนเวียน 3 เท่าและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน 2 เท่าใน พ.ศ.2573
  2. ต้องลดการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่มีเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS)
  3. เร่งการใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำหรือเป็นศูนย์ให้ได้ก่อนหรือกลางศตวรรษที่ 21  
  4. ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้ได้ในทศวรรษนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ.2593
  5. ยกเลิกการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ
Credit: Freepik

แผนของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก

ประเทศได้กำหนดเป้าหมายระยะสั้นไว้ว่าภายใน พ.ศ.2573 จะลดก๊าซเรือนกระจก 30-40% ส่วนเป้าหมายระยะยาวแบ่งเป็น 2 ระยะคือ มีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ.2593 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ.2608

แนวทางก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน จะกระทำผ่านมาตรการสำคัญหลายประการ เช่น

  • เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า อย่างน้อย 68% ในพ.ศ. 2583 และ 74% ใน พ.ศ. 2593
  • การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 69% ใน พ.ศ.2578
  • ยุติการใช้ถ่านหินใน พ.ศ. 2593
  • การใช้เทคโนโลยี CCUS, BECCS, Direct Air Capture (DAC) and storage
  • ใช้พลังงานไฮโดรเจนในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมใน พ.ศ.2588
  • เพิ่มการจัดเก็บให้เป็น 120 ล้านตัน เพื่อบาลานซ์ระหว่างการปล่อยและการจัดเก็บให้เราเป็น Carbon Neutrality and Net Zero GHG Emission (ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์)
Credit: atlascompany

ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในประเทศเพื่อให้ไทยเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์มีด้วยกัน 6 ด้านคือ

  1. ด้านนโยบาย ได้แก่
    1. บูรณาการเป้าหมาย Net Zero ในทุกภาคส่วน เช่น ทุกจังหวัดมีการทำแผนลดก๊าซเรือนกระจก
    2.  ขับเคลื่อนนโยบาย BCG Economy ที่ผสาน 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจยั่งยืน 
    3. ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในภาคเกษตรซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประเทศไทยเป็นอันดับ 2 รองจากภาคพลังงาน 
    4. ขับเคลื่อนตามแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ  
  1. ด้านเทคโนโลยี เร่งขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีเก็บกักดักจับก๊าซคาร์บอน (CCUS) ในเชิงพาณิชย์ใน พ.ศ.2583
  1. ด้านการค้าการลงทุน ส่งเสริมการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) ของภาครัฐ และส่งเสริมกลไกภาครัฐ-เอกชน เช่น มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมระบุวัตถุประสงค์ที่คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม (Green Taxonomy) โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีการจัดทำ Green Taxonomy ของภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม
  1. ด้านพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต พัฒนาใน 2 วัตถุประสงค์ คือการใช้คาร์บอนเครดิตภายในประเทศ ซึ่งดำเนินการได้เลย และการใช้คาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ เพื่อให้อีกประเทศหนึ่งนำไปทำบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในส่วนความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐ กรมการกงสุลจะยื่นเอกสารไปที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อขออนุญาตการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากครม. จึงขอขึ้นทะเบียนกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก.

โดยกลไกตลาดระหว่างประเทศมีความร่วมมือลักษณะทวิภาคีหรือพหุภาคี เช่น โครงการ Bangkok e-Bus Program รถประจำทางอีวีสีน้ำเงินที่ให้บริการในกรุงเทพฯ เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์  เป็นการเปลี่ยนรถยนต์สันดาปภายในมาเป็นรถอีวี และโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ลงทุนและปรับใช้เทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ปีละประมาณ 74,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นต้น

Credit: Freepik

ประเทศได้กำหนดเป้าหมายระยะสั้นไว้ว่าภายใน พ.ศ.2573 จะลดก๊าซเรือนกระจก 30-40% ส่วนเป้าหมายระยะยาวแบ่งเป็น 2 ระยะคือ มีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ.2593 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ.2608

  1. ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บ/ดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็น 55% โดยมุ่งไปที่ป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท เพื่อให้การกักเก็บก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 120 ล้านตัน
  1. ด้านกฎหมาย ประเทศไทยมีแต่องค์กรภาคสมัครใจ ปัจจุบันขับเคลื่อนผ่านโครงการ T-VER ซึ่งเป็นกลไกลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ 

ทว่า กลไกภาคสมัครใจอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ลดก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงศึกษาและร่าง “พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” โดยใส่มาตรการที่จะลดก๊าซเรือนกระจกผ่านระบบซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นกลไกภาคบังคับ 

ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เน้นย้ำเป็นพิเศษในหมวด 8 ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หมวด 9 ระบบภาษีคาร์บอน เพื่อเก็บภาษีสำหรับวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก ไฟฟ้า และหมวด 10 คาร์บอนเครดิต เปิดให้มีการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ แต่หากทำไม่ได้ องค์กรนั้น ๆ จะต้องเสียค่าปรับ เป็นต้น 

Credit: Freepik

ตามรายงานของ IPCC ที่ระบุไว้ว่า อุตสาหกรรมทุกภาคส่วนของโลกมีแนวโน้มจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกให้ลดลงครึ่งหนึ่งใน พ.ศ.2573 ดังนั้น ความพยายามของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการทั้งมาตรการ แนวทาง และโครงการต่าง ๆ ทั้งภาคสมัครและภาคบังคับ จึงนับว่าเป็นพลังหนึ่งในการกอบกู้สถานการณ์โลกรวนที่กำลังเผชิญอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นดังเช่นหมุดหมายในใจของนักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่เชื่อว่า แม้การเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปได้ช้า หากก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเพื่อโลกเลย