Grid Brief

  • Climate Anxiety หรือ Eco-Anxiety คือ ความรู้สึกวิตกกังวลหรือเป็นทุกข์ต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลให้รู้สึกว่าอนาคตไม่แน่นอน รู้สึกว่าตนเองควบคุมอะไรไม่ได้ วิตกกังวลต่อชีวิตความเป็นอยู่หรือความปลอดภัยของตนเอง

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลกส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพายุฝน น้ำท่วม ภัยแล้ง ไปจนถึงไฟป่า ซึ่งมนุษย์ในยุคนี้จะต้องเผชิญหน้าหรือเป็นประจักษ์พยานหายนะภัยในทุกฤดูกาล นอกจากความเสียหายไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน อาชีพ หรือชีวิต ความเสียหายทางจิตใจอาจทวีความรุนแรงขึ้นไม่แพ้กัน ดังที่เรียกว่า ‘Climate Anxiety’

Credit: Freepik

Climate Anxiety คืออะไร   

Climate Anxiety หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า Eco-Anxiety หมายถึง ความรู้สึกวิตกกังวลหรือเป็นทุกข์ต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจนเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรง ส่งผลให้รู้สึกว่าอนาคตไม่แน่นอน รู้สึกว่าตนเองควบคุมอะไรไม่ได้ วิตกกังวลต่อชีวิตความเป็นอยู่หรือความปลอดภัยของตนเอง 

แตกต่างไปจากตัวกระตุ้นความเครียดอื่น ๆ ที่มักมาจากเรื่องส่วนตัว แต่ Climate Anxiety มีต้นตอจากความวิตกกังวลจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง จึงเป็นภาวะสากลที่เป็นกันได้ทั่วโลก และมักเป็นเรื้อรังเมื่อสภาพอากาศมีแต่จะเลวร้ายลง จากโลกร้อนเป็นโลกรวน และกลายเป็นโลกเดือดอย่างทุกวันนี้ 

อาการวิตกกังวลเพราะโลกรวนจึงเป็นกันได้ทุกคน ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม บางคนอาจเจอสถานการณ์น้ำท่วมกับตัวเอง บางรายอาจได้รับผลกระทบจากไฟป่าที่เกิดในชุมชน หรือทุก ๆ ฤดูร้อน คนไทยส่วนใหญ่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาฝุ่น PM 2.5 อาการ Climate Anxiety จึงไม่ใช่ปัญหาไกลตัวแต่อย่างใด  


อาการของ Climate Anxiety

อาการของภาวะนี้เป็นได้ตั้งแต่รู้สึกเศร้าหมอง โกรธ ละอาย รู้สึกผิด เคว้งคว้าง สิ้นหวัง ไปจนถึงอ่อนเปลี้ย ความรู้สึกเหล่านี้อาจเกิดจากการได้รับผลกระทบทางตรง เช่น สูญเสียที่อยู่อาศัยหรือคนในครอบครัวจากเหตุการณ์น้ำท่วม หรือเป็นมะเร็งปอดเพราะฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น หรือได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเสพข่าวหายนะภัยทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาจทำให้รู้สึกกังวลต่ออนาคต หรือรู้สึกว่าการดำรงอยู่ของมนุษยชาติถูกคุกคาม มนุษย์อาจจะตายกันหมดจนสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปเลยก็เป็นได้ เป็นต้น 

Credit: prostooleh

การรับมือกับภาวะ Climate Anxiety   

กุญแจสำคัญอยู่ที่ Mindsight หรือการฝึกมีสติรู้เท่าทันแบบแผนอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง เพื่อให้สามารถดักอารมณ์ไว้ได้ก่อนจะที่ดำดิ่งไปตามห้วงอารมณ์ จนกลายเป็นการทำพฤติกรรมทำร้ายจิตใจตัวเองซ้ำ ๆ ซึ่งทำได้ดังนี้ 

  • นั่งเป็นเพื่อนอารมณ์

ไม่ต้องพยายามกำจัดความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้หายไปโดยเร็ว นั่งอยู่กับความรู้สึกนั้นโดยไม่ตัดสิน ความรู้สึกนั้นไม่ใช่ตัวตนหรือทั้งหมดของเรา เป็นเพียงประสบการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นกับเราเท่านั้น 

  • ฝึกสติ

รู้เท่าทันความรู้สึกของตนเองว่าเป็นเพียงภาวะชั่วคราว เพื่อไม่ให้เราดำดิ่งลงไปในหุบเหวความรู้สึกมากเกินกว่าที่เป็น 

  • เขียนบันทึก 

ยกเหตุการณ์ขึ้นมาสักหนึ่งเรื่องว่าเกิดอะไรขึ้น ไปเจออะไรมาที่ทำให้เรารู้สึกวิตกกังวล และเรารู้สึกอย่างไรบ้าง ร่างกายเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อรู้สึกแบบนี้ เช่น ตัวร้อน หน้าแดง มือสั่น ใจเต้นเร็ว วิงเวียน ฯลฯ เพื่อให้รู้ว่าอะไรคือปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวล 

  • โฟกัสในสิ่งที่เราควบคุมได้ 

ภาวะโลกรวนเป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ไขได้โดยคนคนเดียว องค์กรเดียว หรือประเทศเดียว ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องน่าสิ้นหวังไปเสียหมด เพราะอย่างน้อยการลงมือทำสิ่งที่เราทำได้ ก็คือการทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไข ไม่ได้ทำให้ตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา สิ่งที่เราควบคุมได้ เช่น เข้าร่วมกิจกรรมลดโลกรวน ฝึกนิสัยใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างยั่งยืน แยกขยะ ใช้ของรีไซเคิล ใช้พลังงานหมุนเวียน กินอาหารที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง ฯลฯ 

  • งดเสพข่าวหายนะภัย

หากอยู่ในช่วงดิ่ง ควรถอยตัวเองออกจากปัจจัยกระตุ้น เช่น งดดูข่าว เลิกเล่นโซเชียลมีเดีย เว้นการรับรู้ข่าวเกี่ยวกับโลกรวนหรือหายนะภัยต่าง ๆ ชั่วคราว อย่ากลัวว่าจะตกข่าวหรือรู้สึกว่าพลาดอะไรไป และอย่าเด็ดขาดกับความพยายามใช้วิธี ‘หนามยอกเอาหนามบ่ง’ หรือการบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวเพียงลำพัง เพราะอาการอาจแย่ลงมากจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ไม่ควรเกิด  

  • เราไม่ได้เดียวดาย

เราไม่ได้เผชิญกับหายนะภัยเพียงลำพัง และไม่ได้พยายามจะช่วยโลกให้ดีขึ้นอยู่ตัวคนเดียวเช่นกัน มีผู้คนอีกมากมายที่ผ่านหรือกำลังเผชิญประสบการณ์เดียวกันนี้ มองหาชุมชนหรือคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากภัยธรรมชาติเหมือนกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แล้วจะรู้ว่า เราไม่ใช่คนแรกที่เจอกับเรื่องเช่นนี้ เคยมีคนที่เจอและผ่านมันมาได้ ซึ่งเราก็สามารถผ่านมันไปได้เช่นกัน 


Photo by