Grid Brief

  • โตโยต้าเป็นค่ายรถแรกที่นำเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนมาทดสอบกับรถในรุ่น Toyota GR Corolla ซึ่งเป็นรถแข่งพลังงานไฮโดรเจน
  • เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนใช้งานกับรถเครื่องยนต์สันดาปทั่วไปได้ เพียงติดตั้งฟิลเตอร์หมุนเวียนไว้ที่ด้านหน้าตัวรถเพื่อคอยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขณะขับขี่
  • ผลการวิ่งทดสอบในสนาม Toyota GR Corolla วิ่งรอบละ 4.56 กิโลเมตร และดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้รอบละ 1 กรัม เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องพัฒนาอีกยาวไกลสำหรับการผลิตขายเชิงพาณิชย์

โตโยต้ากำลังพัฒนาระบบใหม่ด้วยเครื่องยนต์ที่ทำให้อากาศสะอาดขึ้นในขณะขับขี่นับเป็นครั้งแรกในโลกที่ค่ายรถนำเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) มาใช้กับยานยนต์ที่ให้ผลลัพธ์มากกว่าแค่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) แต่ทำให้เกิดภาวะคาร์บอนเป็นลบ (Carbon Negative) เลยก็ว่าได้ 

ขับไป ดักคาร์บอนไปด้วย

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 Toyota GR Corollaควบทะยานไปตามทางวิ่งในสนามแข่งรถFuji Speedwayในเมืองโอยามะจังหวัดชิซูโอกะนั่นเป็นครั้งแรกในโลกที่รถพลังไฮโดรเจนล้อหมุนในสนามแข่งรถ 

เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมารถแข่งพลังไฮโดรเจนรุ่นต้นแบบนี้ออกวิ่งอีกครานับเป็นครั้งแรกในโลกที่ค่ายรถทดสอบเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนในรถยนต์ด้วยเทคโนโลยีอันชาญฉลาดที่ไม่ต้องใช้พลังงานเพิ่มเพียงแค่ติดตั้งฟิลเตอร์หมุนเวียนไว้ที่ด้านหน้าตัวรถเพื่อคอยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งจะไหลผ่านของเหลวตัวทำละลายและระเหยหายไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนนี้ยังติดตั้งกับรถเครื่องยนต์สันดาปทั่วไปได้ไม่จำเป็นต้องใช้กับรถพลังไฮโดรเจนเท่านั้น 

หลังจากวิ่งทดสอบหลายสิบรอบในสนามทางโตโยต้าประกาศผลว่า Toyota GR Corollaวิ่งรอบละ4.56กิโลเมตรและดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้รอบละ 1 กรัม 

ระยะทางอีกยาวไกล

โตโยต้าวาดวิสัยทัศน์ว่าจะผลิตรถที่ช่วยฟอกอากาศให้สะอาดขึ้นได้ขณะขับขี่และผลลัพธ์ก็ปรากฏว่าทำได้จริงแม้ว่าการผลิตขายเชิงพาณิชย์นั้นจะยังอีกยาวไกลเพราะจากผลการทดสอบพบว่าฟิลเตอร์นั้นดักจับก๊าซคาร์บอนฯได้ทั้งสิ้น 20 กรัมจากการวิ่งรถ 20 รอบรวมระยะทาง 91 กิโลเมตรแต่ทางค่ายรถยังมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีเพราะโดยเฉลี่ยแล้วรถเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 8,887 กรัมต่อน้ำมัน 1 ลิตร  

หากใช้ฟิลเตอร์ขนาดใหญ่ขึ้นก็จะสามารถดักจับคาร์บอนได้มากขึ้นและยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าต้องสิ้นเปลืองฟิลเตอร์มากแค่ไหนเมื่อในการทดสอบนั้นรถต้องเข้ามาพักจอดเพื่อเปลี่ยนฟิลเตอร์ทุกๆ 20 รอบและฟิลเตอร์ที่ใช้ไปจะกลายเป็นขยะเพิ่มขึ้นมาอีก 

ทางเลือกอื่นนอกจากรถอีวี?  

โตโยต้าคือผู้ผลิตรถรายใหญ่ที่สุดของโลกในปีพ.ศ.2566 ค่ายรถจากญี่ปุ่นนี้ขายรถไปได้ 11.2 ล้านคันมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 4 ปีซ้อนในขณะที่ตลาดยานยนต์โลกเคลื่อนสู่รถอีวีหรือรถพลังงานไฟฟ้าซึ่งโตโยต้าเป็นรองในตลาดนี้แต่เป็นผู้นำโลกในตลาดรถไฮบริดและรถพลังงานไฮโดรเจนโดยค่ายรถยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นยังกล่าวด้วยว่าแบตเตอรี่ที่ต้องใช้ในรถอีวี 1 คันนั้นนำไปใช้ได้กับรถไฮบริดถึง 90 คัน 

โตโยต้าวางเป้าหมายว่าจะปรับองค์กรให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในพ.ศ.2593 การจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้อาจไม่ได้พึ่งพาเฉพาะแค่รถอีวีเท่านั้นแต่รถที่ดักจับคาร์บอนที่ทำได้มากกว่าทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์แต่ทำให้คาร์บอนติดลบไปเลยนั้นอาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของโตโยต้าที่ประเมินว่าถึงที่สุดแล้วทั่วโลกจะใช้รถอีวี 30% 

รถอีก 70% ที่เหลือจะใช้พลังงานอะไรหรือใช้เทคโนโลยีแบบไหนต้องติดตามกันต่อไป 


รูปโดย Toyota