Grid Brief
- กล้วยด่างกลายเป็นไม้ประดับยอดนิยมสำหรับคนรักต้นไม้ในยุคนี้ กล้วยด่างแต่ละสายพันธุ์มีราคาที่แตกต่างกันไปตามความด่างมากน้อย รวมทั้งความสวยงามของลวดลาย
- กล้วยด่างมีทั้งด่างแท้และด่างเทียม หากเป็นกล้วยด่างแท้มักจะเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม และไม่มีทางหายกลับไปเป็นสีเขียวปกติ ในขณะที่กล้วยด่างเทียมมักเกิดกับต้นที่มีพันธุกรรมของกล้วยแบบปกติ แต่แสดงความผิดปกติออกมาคล้ายต้นกล้วยด่าง หากได้รับการดูแลเป็นอย่างดีอาจกลับไปมีใบสีเขียวตามเดิม
ใครจะไปคาดคิดว่า “ต้นกล้วย” ที่อยู่คู่บ้านคนไทยมาช้านาน วันหนึ่งจะกลายเป็นต้นไม้ทำเงินได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะ “กล้วยด่าง” ซึ่งเป็นไม้ประดับยอดนิยมสำหรับคนยุคนี้ จากเดิมที่เคยซื้อขายหน่อในราคาหลักร้อยหลักพัน ก็ขยับราคาสูงถึงหลักแสนหลักล้านตามความด่างมากด่างน้อย ยิ่งเมื่อนักแสดงสาวคนดัง ญาญ่า อุรัสยา ถ่ายรูปคู่กับต้นกล้วยด่างลงไอจี ความนิยมยิ่งพุ่งตาม
สายพันธุ์กล้วยด่างที่กำลังเป็นที่นิยม
กล้วยด่างแดงอินโด
เป็นพันธุ์ที่มีราคาสูงถึง 1 ล้านบาทเลยทีเดียวสำหรับกล้วยด่างพันธุ์นี้ ว่ากันว่า ลายด่างที่เกิดขึ้นนั้น มาจากพันธุกรรม ใบจะออกสีแดงปนเหลืองทอง และส่วนมากในหนึ่งใบด่างจะมีสี่สีปนกัน แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นตรงที่กาบใบจะเป็นสีน้ำตาลแกมแดงเข้ม ซ้อนทับกันแน่นเป็นลำต้นเทียม ใบเดี่ยวรูปขอบขนาน ปลายแหลมมีติ่ง โคนมน แผ่นใบด้านบนสีน้ำตาลเข้มแกมแดง ลายด่างสีเขียวตามแกนใบหรือเส้นใบ บางต้นอาจมีลายด่างขาวหรือสีชมพูอ่อน ขยายพันธุ์ได้ทั้งการเพาะเมล็ด แยกกอ และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดรำไรและน้ำปานกลาง
กล้วยด่างฟลอริดา
เป็นกล้วยจากต่างประเทศที่มีลายคงที่ มีถิ่นกำเนิดในฮาวายและหมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้ ถือเป็นอีกชนิดที่มีราคาสูงถึงต้นละเฉียดแสนบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความด่างบนใบ โดยใบสีเขียวอาจมีด่างสีขาวหรือสีเหลืองตามแนวเส้นใบ ช่อดอกตั้ง แกนดอกสีเขียว มีกาบรองดอกสีเขียว 4-7 อัน เรียงเป็นสองแถวในแนวตั้งระนาบเดียวกัน มีลายเป็นเส้นสีขาวหรือสีเหลืองตามทางยาว ออกดอกมากในช่วงที่มีอากาศเย็น ให้หน่อด่าง มีผลโค้งงอปลายสอบเรียว เปลือกด่างขาวเขียวหรือชมพู รสชาติอมเปรี้ยว ไม่มีเมล็ด นิยมขยายพันธุ์ด้วยการแยกกอและเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ปลูกได้ในดินทุกชนิด แต่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ชอบน้ำมากและแสงแดดรำไร
กล้วยด่างเทพพนม
มีถิ่นกำเนิดในประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนที่อยู่เหนือดินคือ “ลำต้นเทียม” ประกอบด้วยกาบซ้อนทับกัน กาบใบด้านนอกเป็นสีเขียว โคนกาบและกาบด้านในเป็นสีชมพู (ส่วนลำต้นแท้ หมายถึง ส่วนหัวหรือเหง้าที่อยู่เหนือดินเพียงเล็กน้อยหรืออาจฝังอยู่ใต้ดิน) ใบสีเขียวมีลายด่างสีขาวหรือสีเหลืองขึ้นตามเส้นใบ ทางใบยาวประมาณ 3.5 เมตร แผ่นใบกว้าง ปลีสีม่วงอมเทา ด้านล่างสีแดงเข้ม ออกผลติดกันลักษณะคล้ายการพนมมือ 1 หวี มีประมาณ 16-17 ผล แต่ละผลมีเหลี่ยมชัดเจน รสหวาน ไม่มีเมล็ด นิยมขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ ปลูกง่าย เติบโตดีในดินร่วนซุย ระบายน้ำดี ปัจจุบันวางขายในราคาหลักกว่าหมื่นบาท
กล้วยด่างตานี
มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กาบด้านนอกสีเขียวเข้ม มีริ้วด่างขาว มีปื้นดำที่คอใบเล็กน้อย กาบด้านในสีเขียว หน่ออ่อนสีเขียวเข้ม ก้านใบสีเขียวเข้ม ครีบก้านในสีเขียวขอบดำ โคนใบมนและเท่ากันทั้งซ้าย-ขวา ก้านช่อดอกไม่มีขน ปลายมนโค้งลง ไม่ม้วนงอ ใบประดับสีน้ำตาลอมแดง เรียงเหลื่อมซ้อนกันชัดเจน โคนใบด้านในสีเหลืองซีด ปลายใบด้านในสีชมพู มีผลขนาดเล็กป้อมสั้น ปลายผลมีจุกยาว ออกผล 7-8 หวีต่อเครือ 1 หวีมีประมาณ 8-10 ผล ผลดิบจะมีสีเขียวเข้มลายริ้วด่างขาว เมื่อผลสุกเนื้อจะมีสีขาว มีเมล็ดมาก ขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ดและแยกหน่อ สามารถปลูกได้ทั้งบริเวณกลางแจ้งและแดดรำไร เจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียวปนทราย ชอบความชื้นปานกลาง ราคาจะเริ่มต้นที่ 5,000 ถึงหลักหมื่นต้น ๆ
กล้วยด่างแท้และกล้วยด่างเทียมต่างกันตรงไหน
กล้วยด่างที่ซื้อขายได้ราคาคือกล้วยด่างที่เกิดจากความผิดปกติระดับพันธุกรรม จนเกิดการกลายเฉพาะจุด สังเกตเห็นได้จากภายนอกทางส่วนใบ ลำต้น ไปจนถึงผล ความสม่ำเสมอของลวดลายด่างไม่เท่ากัน กลายเป็นสีสันและลวดลายที่ผิดแปลกไปจากกล้วยปกติ ซึ่งความผิดปกตินี้จะเกิดกับต้นกล้วยต้นนั้นไปตลอด และไม่กลับไปมีใบเขียวเหมือนต้นกล้วยปกติ แม้ว่าต้นนั้นจะอยู่ในสภาวะสมบูรณ์หรือไม่ก็ตาม ต่างจากกล้วยด่างเทียม ซึ่งเกิดกับต้นที่มีพันธุกรรมของกล้วยแบบปกติ แต่แสดงความผิดปกติออกมาคล้ายต้นกล้วยด่าง หากต้นกล้วยนั้นได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและอยู่ในสภาพสมบูรณ์ก็จะกลับไปมีใบสีเขียวตามเดิม
ทำไมจึงเกิดกล้วยด่างเทียม
ส่วนมากเกิดจากการขาดสารอาหาร ทำให้ใบและลำต้นมีอาการใบเหลือง สีซีดอ่อน ไม่สม่ำเสมอกัน คล้ายกับลักษณะใบด่างแท้ แม้จะรดน้ำและกลับมาดูแลให้สารอาหารที่เหมาะสมอาจต้องใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าจะเป็นสีเขียวตามเดิม หรือเกิดจากโรคระบาดอันมาจากเชื้อไวรัส เช่น Mosaic Virus จะมีอาการด่างเหลือง บ้างเป็นดวงทั่วทั้งใบ ไม่ให้ผลผลิต มักแพร่ไปติดยังต้นอื่น หรือการปลูกในดินเปรี้ยว ใบจะคล้ายกับกล้วยด่างแท้มาก
ลักษณะกล้วยด่างที่น่าซื้อ
- รากแน่นและเยอะ
- ลำต้นสมบูรณ์ ไม่มีรอยช้ำหรือหัก
- ลำต้นแข็ง ไม่นิ่ม
- สังเกตรูปแบบของลวดลายบนใบ ลำต้นและผล ลวดลายด่างที่เกิดขึ้นจะต้องมีสีสันที่ชัด ลักษณะของใบต้องสมบูรณ์ ไม่มีรอยไหม้หรือรอยโรค
รู้ไว้หากไม่อยากโดนหลอกซื้อกล้วยด่างเทียม
- ควรศึกษาความน่าเชื่อถือจากแหล่งที่มา หลีกเลี่ยงการซื้อกล้วยด่างจากผู้ที่ไปขุดมาจากป่าโดยตรง เพราะหากไม่ใช่ผู้ที่เชี่ยวชาญอาจแยกได้ยาก
- จำลักษณะของลวดลายกล้วยด่างเทียม ซึ่งหน้าตาจะออกมาเหมือนเดิมคล้าย ๆ กัน ส่วนมากตามเส้นใบจะมีริ้วสีเหลืองหรือขาวยาวไปตลอดเส้นใบ หรือไล่สีไปตามเส้นใบ มักเกิดสีสันที่ไม่ชัดเจน เหมือนนำเอาใบกล้วยไปแช่ไว้ในน้ำสี และดึงสีนั้นมาแสดงบนใบอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งใบ ในขณะที่ใบด่างแท้จะเกิดลวดลายและสีสันตัดกันชัดเจน เกิดได้หลากหลายรูปแบบมากกว่า มีลวดลายที่แตกต่างไม่เหมือนกันทั่วทั้งใบ
- ก่อนซื้อควรศึกษาชนิดของต้นกล้วยด่างที่ซื้อให้ดีว่า มีหน้าตาและลวดลายด่างตรงตามที่ผู้ขายแจ้งหรือไม่ หากไม่แน่ใจอาจเข้าไปปรึกษาในกลุ่มชมรมหรือสมาคมคนที่สะสมกล้วยด่างที่น่าเชื่อถือได้