Grid Brief
- ผลงาน Best Seller ชื่อ ‘Atomic Habits’ ของ เจมส์ เคลียร์ นักเขียนชาวอเมริกัน วิเคราะห์นิสัยของมนุษย์และวิธีที่ช่วยให้เราสลัดนิสัยไม่เข้าท่าของตัวเองออกไปได้ ด้วยการแทนที่ด้วยนิสัยดีผ่านการจัดบ้าน
- เทคนิคง่าย ๆ ในการสร้างนิสัยที่เป็นระเบียบให้ตัวเอง คือการจำ ‘คิว’ ในการใส่นิสัยใหม่ไว้ในชีวิตประจำวันของคุณ เมื่อทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง นิสัยใหม่นี้ก็จะเข้ามาแทนที่นิสัยเดิมที่ไม่พึงประสงค์ให้ออกไปจากชีวิตคุณ
‘Atomic Habits’ คือหนังสือขายดีติดอันดับหนึ่ง New York Times ของ เจมส์ เคลียร์ นักเขียนชาวอเมริกัน มียอดขายทั่วโลกกว่า 1 ล้านเล่ม ทุกหน้าของหนังสือเล่มนี้เป็นการวิเคราะห์นิสัยของมนุษย์ พร้อมคำแนะนำในการกำจัดนิสัยไม่ดี และสร้างนิสัยดีมาแทน
ตัวการทำบ้านรก
เจมส์ยกตัวอย่างจากเรื่องใกล้ตัว ให้ลองมองดูบ้านของตัวเองที่ไม่เคยเป็นระเบียบเรียบร้อยเสียที เพราะหลายคนมักจะให้เหตุผลตัวเองว่า ‘เดี๋ยวก่อน’
ส่วนสาเหตุที่บ้านรกนั้น มาจากการทำนิสัยเดิมๆ ซ้ำๆ ของสมาชิกในบ้าน เช่น การกองจานชามที่กินเสร็จแล้วไว้ในอ่างล้างจาน เสื้อผ้าที่สีตกเพราะการไม่แยกผ้าก่อนซัก การหาถุงเท้าไม่เจอ หรือถุงเท้าไม่เข้าคู่กัน เพราะจับคู่ถุงเท้าตอนนำไปซัก และ ตอนเก็บถุงเท้าก็ไม่จับเป็นคู่ หรือบ้านที่เต็มไปด้วยฝุ่นเพราะไม่หมั่นปัดกวาดเช็ดถู
ทว่า เจมส์วิเคราะห์ไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า แม้จะเป็นนิสัยที่ทำมานาน แต่หากใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้จากภายใน ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงตัวตน นั่นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร
สร้างนิสัยให้จัดบ้าน
การสร้างนิสัยใหม่ที่ดีขึ้นต้องเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ต้องฝืนใจ ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ที่สำคัญต้องไม่น่าเบื่อ ควรให้กำลังใจตัวเองว่า ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ฉะนั้น การเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแม้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
เจมส์เขียนไว้ในหนังสือ Atomic Habits ว่า ให้คิดว่าเราเป็นนักแสดงที่ต้องจำคิวตัวเองให้ได้ คิวในที่นี้คือการจัดเวลาสำหรับการเริ่มต้นนิสัยใหม่ โดยยกตัวอย่างผู้ที่ทำตามวิธีนี้แล้วได้ผล คือ นักพัฒนาไอทีชาวอเมริกันชื่อ ออสวอลด์ นัคคอลส์ ที่อยากเปลี่ยนตัวเองให้มีนิสัยจัดบ้านให้เป็นระเบียบ
ออสวอลด์จัดคิวนิสัยใหม่ให้ตัวเองดังต่อไปนี้ หลังดูทีวีเสร็จ เขาจะคิวที่ 1 คือการวางรีโมทคอนโทรลไว้บนทีวี คิวที่ 2 จัดหมอน คิวที่ 3 พับผ้าห่มบนโซฟา ทำได้ครบ 3 คิวนี้ บริเวณหน้าทีวีจะเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ
เมื่อออสวอลด์จอดรถ คิวที่ 1 เขาจะเก็บขยะในรถ คิวที่ 2 เปิดประตูแล้วก้าวลงจากรถ คิวที่ 3 เอาขยะไปทิ้งลงถัง ตั้งแต่นั้นรถของเขาก็สะอาด ไม่มีเศษขยะในรถ จึงไม่มีกลิ่นและไม่มีมดแมลงในรถเหมือนแต่ก่อน
เมื่อถึงเวลาอาบน้ำ ออสวอลด์เห็นว่า ตอนอาบน้ำคือช่วงเวลาเหมาะที่สุดสำหรับเขาที่จะทำความสะอาดห้องน้ำ เขาจึงให้คิวที่ 1 เป็นการทำความสะอาดชักโครก คิวที่ 2 ทำความสะอาดพื้น คิวที่ 3 ทำความสะอาดตัวเอง
หลังจากที่ออสวอลด์จำคิวให้นิสัยใหม่ในกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และทำอย่างต่อเนื่องไปสักพัก บ้านและรถของออสวอลด์ก็เป็นระเบียบ จากเดิมที่เขาบอกตัวเองว่า ‘ฉันเป็นคนขี้เกียจ’ ก็ได้กลายเป็นคน ‘ขี้เกียจเชิงรุก’ ด้วยการจัดคิวนิสัยใหม่ให้ตัวเอง
เตรียมสภาพแวดล้อมให้พร้อม
เจมส์สรุปว่า การเตรียมสภาพแวดล้อมให้พร้อมจะทำสิ่งต่อไปคือหัวใจสำคัญ เช่น ภรรยาของเจมส์จะวางกล่องใส่การ์ดสำหรับโอกาสต่างๆ ไว้ที่โต๊ะทำงานเสมอ เพราะปีหนึ่งๆ มีเทศกาลและวันสำคัญทุกเดือนอยู่แล้ว เมื่อวันสำคัญในเดือนนั้นมาถึง เจมส์ก็แค่เปิดกล่องแล้วหยิบการ์ดที่เหมาะกับโอกาสนั้นมาเขียนได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาไปรื้อหาหรือต้องออกไปซื้อการ์ดใหม่
ถ้าคุณอยากทำเมนูสุขภาพทุกเช้า ให้วางอุปกรณ์ มีด หม้อ เขียง ตะหลิว ฯลฯ เตรียมไว้ข้างเตา และ จัดวัตถุดิบที่ต้องใช้ทำเมนูนั้นใส่ถุงเดียวกันไว้ในตู้เย็นตั้งแต่ก่อนเข้านอน เมื่อตื่นเช้ามาจะได้ลุยปรุงมื้อเช้าได้ทันที
หลักการเตรียมสภาพแวดล้อมให้พร้อมลงมือทำนี้ ปรับใช้ได้กับทุกกิจกรรมในชีวิต ลองนำไปปรับใช้และทำตามกันดูนะ