ถนนเล็ก ๆ เส้นนั้นฉีกเราออกไปหาชายแดน ที่ราบทอดตัวแผ่ผืน บนความสูงเหนือยอดดอย มองลงมาเห็นภูมิประเทศแถบสามเหลี่ยมทองคำ พรมแดนไทย ลาว และเมียนมา ปรากฏรวมกันเป็นทิวเขา แปลงเกษตร สายน้ำ และป่าไม้ที่ยังหลงเหลือ ต่างก็ซ่อนพรางอยู่ในม่านทะเลหมอกสีนวลตาในยามเช้า

เราอยู่กันที่บ้านปางห้า หมู่บ้านเล็ก ๆ ตรงปลายชายแดนริมแม่น้ำรวก บ้านไร่กลางหุบเขาของผู้คนหลากหลายที่จับมือกันปรุงโฉมหมู่บ้านแสนสงบ เพื่อรองรับความเคลื่อนไหวในโลกแห่งการท่องเที่ยวได้อย่างกลมกลืนและรื่นรมย์

1…

ถนนหนทางสะอาดสอ้าน ข้าวเพิ่งพ้นฤดูเก็บเกี่ยว ที่ราบกลางดอยอาบลมหนาว มันคล้ายคลึงกันกับยามเช้าตามบ้านเรือนชนบททั่วไป โลกเรียบง่ายของสังคมกสิกรรมขับเคลื่อนไปเคียงข้างพระพุทธศาสนา

คนเมืองล้านนาคือประชากรส่วนใหญ่ของบ้านปางห้า สำเนียงเหนือแบบเชียงรายของพวกเขาฟังชัดเจน ไม่เนิบนาบเหมือนเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ห้วนแข็งอย่างคนแพร่ จาก “ปาง” หรือจุดพักบนเส้นทางการค้าขายข้ามป่าข้ามแผ่นดิน ที่ราบที่มีต้นห้า ไม้พื้นเมืองขึ้นดกดื่น ความอุดมสมบูรณ์ตรงนี้ดึงดูดให้ผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์โยกย้ายตัวเองเข้ามาปักหลัก ช่วยกันเพิ่มเสน่ห์ในสีสันชีวิตให้บ้านไร่ชายแดน

คนจีนยูนนานมาถึงที่นี่หลังจบสิ้นสงครามระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยราวปี พ.ศ. 2523 ขณะที่ชายแดนเปิดต้อนรับคนไทยภูเขาเผ่าอาข่าไว้ตามไหล่ดอย คนไทยใหญ่ไทยลื้อ และปกาเกอะญอก็เช่นกัน ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่บ้านปางห้าร่วมกับอีกหลายบ้านใน ต.เกาะช้าง

พวกเขาเรียกที่นี่ว่าปางห้าตามการพบเห็นกายภาพแรกเริ่มของแผ่นดิน แต่กว่าจะผ่านพ้น เรียนรู้ และทำความรู้จักจนเป็นหนึ่งเดียว ใครหลายคนที่นี่บอกว่าอาจต้องใช้เวลาอีกหลายช่วงชีวิต

2…

ท่ามกลางที่ราบอันไพศาลซึ่งมีทิวดอยนางนอนช่วงปลายวางตัวเคียงข้างบ้านปางห้าเต็มไปด้วยมุมหลากหลายให้เที่ยวเล่นสัมผัส ‘สวนบ่าก๋วยก๋า (ฝรั่ง)

ป้าลัดดา’ แผ่ผืนสีเขียวสองฟากด้าน ฉากหลังมองเห็นจุดที่เป็นพิกัดของบ้านผาฮี้กลมกลืนอยู่ในทิวดอยนางนอน ป้าลัดดาลองผิดลองถูกกับพืชไร่มาหลายชนิด จนมาปลูกฝรั่งกิมจูด้วยเทคนิคอินทรีย์ สะอาด กรอบหวาน จริง ๆ เก็บกินได้จากต้นกลางหมู่บ้านคือภาพการท่องเที่ยวอันชัดเจนของคนบ้านปางห้า

พ้นรั้วเข้าสู่พื้นที่ร่มรื่น อาคารปูนที่ผสมด้วยไม้เก่าวางตัวอยู่เบื้องซ้าย มันเป็นทั้งออฟฟิศ ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึกไล่เลยไปถึงห้องทำสปาและแกลเลอรีแห่งกระดาษสา

จินนาลักษณ์ มิราเคิล ออฟ สา โรงงานทำกระดาษสาที่เริ่มต้นด้วยความรักและหลงใหลในสีสันและลวดลายของคุณ จินนาลักษณ์ ชุ่มมงคล ลูกหลานบ้านปางห้า เธอพาผู้คนทั้งในหมู่บ้านและแรงงานเพื่อนบ้านจากต่างแดน พัฒนาปรับเปลี่ยนจากโรงงานเล็ก ๆ จนมีออร์เดอร์ส่งออกไปต่างชาติมายาวนาน

ต้นสาที่มีดกดื่นอยู่ที่ปางห้าถูกนำมาเลือกเฟ้น พัฒนาคุณภาพ ไล่เลยไปถึงการทดลองเรื่องสีและลวดลายใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง พวกเขารู้และเข้าใจเนื้อเยื่อจากเปลือกของไม้ชนิดนี้เป็นอย่างดี เปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์น่าใช้ เช่น สมุดบันทึก กล่องกระดาษ ภาพประดับ ไล่เลยไปถึงวอลเปเปอร์ ภาพเก่า ๆ ในห้องฉายประวัติ

ภาพขาวดำเก่าซีดเล่าเรื่องอดีตหนักหนาที่ผ่านพ้น แรงงานต่างชาตินุ่งโสร่งกรำงาน โรงเรือนและห้องย้อมในยุคแรกเริ่มแตกต่างกับภาพตรงหน้ามากมายนัก

แนวทางเดินนำพาคนมาเรียนรู้ไปสู่โลกแห่งกระดาษสา ตรงจุดเริ่มต้นมีขนมล็อกนาที่ภาคกลางเรียกขนมพิมพ์ รวมไปถึงน้ำสมุนไพร คือภาพน่ารักตรงจุดเริ่ม

ใครสักคนรู้จักขั้นตอนการฉีกปุยเยื่อต้นสาวางแผ่ลงบนเฟรม เติมต่อจินตนาการทั้งใบไม้ ดอกไม้ หรือวาดลวดลายลงในเฟรม นอกจากลองทำกระดาษสาด้วยตัวเอง โรงเรือนหลายจุดยังเต็มไปด้วยผู้คนหลากวัย

คุณป้าคุณน้านั่งติดหูใส่ถุงกระดาษสา ร้อยกระดาษเก่าที่นำมารีไซเคิลแล้วย้อมสีก่อนนำมาทำโมบาย หรือบางมุมก็มีสปาเท้าจากสมุนไพรในหมู่บ้านที่ดูจะคึกคักจากผู้คนที่สนใจโดยเฉพาะสาว ๆ ไม่เพียงกระดาษสา แต่จินนาลักษณ์ฯ ยังค้นพบว่า ความหลากหลายของผู้คนที่นี่นำความเป็นตัวตนมาต่อยอดได้อย่างน่าทึ่ง ที่ปางห้ามีชาวอีสานมาอยู่ด้วย พวกเขาเชี่ยวชาญการเลี้ยงไหม คนที่นี่จึงลองนำไหมมาเลี้ยงบนเฟรมกระดาษสา ปล่อยให้มันพ่นน้ำลายสร้างใยไหม กลายเป็นแผ่นใยไหมที่ใช้เทคนิคการทำกระดาษสาเข้าไปประยุกต์

ทางจินนาลักษณ์ฯ นำสารอาหารที่มีคุณค่าสูงมากอย่างโปรตีน มาต่อยอดใช้ในการมาสก์หน้า ผลิตเป็นเซรั่มและโลชั่นบำรุงผิว พร้อม ๆ กับสร้างจุดขายผ่านโลกการตลาดว่า ‘มาสก์หน้าใยไหมทองคำ’ ผู้คนแห่งปางห้าค้นพบทางเลือกใหม่เมื่อนำงานฝีมือมาผสานกับการท่องเที่ยว

3…

ถนนสายเล็กที่ลากผ่านบ้านปางห้าเต็มไปด้วยความสงบเงียบเรียบง่าย มันไม่ใช่บ้านไม้โบราณหรือบรรยากาศวินเทจค้นหาอดีต แต่คือชีวิตจริงแท้ของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันในหมู่บ้านเล็ก ๆ

ใครสักคนชวนขี่จักรยานผ่านเข้าไปเที่ยวโรงบ่มใบยาสูบโบราณ มันให้บรรยากาศขรึม ๆ เท่ ๆ ในรูปทรงอาคารก่ออิฐทรงเหลี่ยมเรียงราย แม้ไม่ได้ใช้งานแล้ว แต่ก็ชวนให้รำลึกถึงอาชีพหนึ่งในอดีตของคนที่นี่ ผ่านการเป็นฉากถ่ายรูปชั้นดี

ลัดเลาะออกจากความหนาแน่นในคุ้มบ้าน ผ่านพ้นขึ้นดอยไปตามแปลงดอกเก๊กฮวย คาโมมายล์ สวนมะขามป้อม ไม่เพียงทุ่งดอกไม้สีเหลืองอร่ามยามเช้า แต่การเก็บดอกมาแปรรูปทำชาเก๊กฮวย ชาคาโมมายล์ ล้วนเป็นทางเลือกที่ดีนอกเหนือไปจากปลูกพืชเชิงเดี่ยวในอดีต

ริมน้ำรวกคือปลายสุดเส้นทางจากบ้านปางห้าและเป็นขอบเข ชายแดนของแม่สายกับฝั่งเมืองคงของเมียนมา สายน้ำเล็ก ๆ ที่ไม่เคยแห้งเหือด ผู้คนจากอีกฟากฝั่งยังข้ามมาหาซื้อสินค้าตามการผ่อนปรน ชีวิตตามแดนดอยและชายแดนไม่เหมือนคืนวันเก่าก่อนอีกต่อไป โลกใกล้กันมากขึ้นในนามของการพัฒนาและความเท่าเทียมของชีวิต มันไม่ได้แสดงออกมาในเชิงวัตถุไปเสียหมด

หากเป็นความเท่าเทียมที่ปรากฏเป็นรอยยิ้มบนใบหน้า เป็นแววตาอันเปล่งประกายสดใสยามที่ชีวิตบ้านไกลอันลำบากยากเข็ญในอดีตผ่านพ้นไปเป็นเพียงเรื่องเล่าและความทรงจำ

ล้อมกรอบการเดินทาง

จาก อ.เมืองเชียงราย ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ผ่าน อ.แม่จัน ถึง อ.แม่สาย จากนั้นแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 123 ราว 7 กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1290 อีกราว 13 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1041 อีกราว 5 กิโลเมตร ถึงบ้านปางห้า

ที่พัก
ที่บ้านปางห้ามีบ้านพักโฮมสเตย์ได้มาตรฐานหลายแห่งให้บริการ ติดต่อ ท่องเที่ยวชุมชนปางห้าโฮมสเตย์

  • โทรศัพท์ : 064-679-7470
  • เฟซบุ๊ก : ท่องเที่ยวชุมชนปางห้าโฮมสเตย์ Pangha Homestay

ที่กิน
บ้านสวนอุ้ยคำ Homestay & Cafe อาหารเหนือและอาหารพื้นเมืองในรูปแบบผสมผสาน เบเกอรีโฮมเมด ชา กาแฟ ในบรรยากาศบ้านสวนโบราณร่มรื่น

  • โทรศัพท์ 062-936-5644
  • เฟซบุ๊ก : บ้านสวนอุ้ยคำ Baansuan Auy Kham

เรื่องโดย: ฐากูร โกมารกุล ณ นคร
ภาพโดย: ธีรพัฒน์ บุปผาพิบูลย์