Grid Brief

  • คาร์บอนเครดิต หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเก็บกักหรือการดูดกลับจากกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ
  • ตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทยตั้งแต่เริ่มต้น ราคาเฉลี่ยตันละ 89.6 บาท โดยในปี 2567 มีมูลค่าตลาด 73,019,230 บาท จากปริมาณซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต 442,879 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e)
  • โครงการที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุดในไทย ได้แก่ โครงการประเภทชีวมวล (41%) แต่ได้รับผลตอบแทนต่ำเพียง 36 บาทต่อตัน และโครงการประเภทป่าไม้ 23% ซึ่งมีราคาเฉลี่ยสูง 290 บาทต่อตัน โดยในปี 2567 มีผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 510 บาทต่อตัน

คำว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ กลายเป็นคำฮิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อผู้คนเริ่มมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากเผชิญกับโรคโควิด-19 ฝุ่น PM 2.5 หน้าร้อนที่อุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียสแทบทุกวัน

นอกจากมิติด้านสิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิตยังเป็นธุรกิจที่คนเริ่มสนใจซื้อ-ขายในตลาดนี้ โดยประเทศไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตั้งแต่ปี 2559 นับถึงเดือนเมษายน 2567 มีจำนวน 3,258,033 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) มูลค่าการซื้อขายรวม 292 ล้านบาท

โดยตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทยปี 2567 มีมูลค่า 73,019,230 บาท ปริมาณ 442,879 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e)  

ตัวเลขเหล่านี้มาจากไหน และทำไมคาร์บอนเครดิตจึงน่าสนใจ GRID จะเล่าให้ฟัง

ทำไมประเทศไทยต้องสนใจเรื่องคาร์บอนเครดิต

‘การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์’ (Net Zero GHG Emission) ได้กลายเป็นวาระสำคัญของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกหลังจากการประชุมด้านสิ่งแวดล้อม ‘COP26’ โดยมากแล้วประเทศต่าง ๆ กำหนดเป้าหมายไว้ที่ปี โดยประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่กำหนดเป้าหมายไว้ที่ปี 2593 

แล้วประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ที่ปีใด?

ประเทศไทยกำหนดเป้าหมายเป็น 2 ระยะ คือ ระยะยาว พ.ศ. 2608 และระยะกลาง พ.ศ. 2593 ด้วยเป้าหมายนี้ที่จะทำให้ประเทศไทยทัดเทียมนานาประเทศ ส่งผลให้เกิด ‘การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต’ ขึ้นตามมา

คาร์บอนเครดิตคืออะไร

คาร์บอนเครดิต หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อม (ปกติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จะเทียบกับสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์) รวมถึงการเก็บกักหรือการดูดกลับจากกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ โดยสิทธิดังกล่าวจะต้องมีการรับรองโดยหน่วยรับรอง ตามระเบียบหรือวิธีการของทางราชการที่เป็นที่ยอมรับหรือเทียบได้กับระดับสากล 

ตลาดคาร์บอน (Carbon Market) จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อทำการซื้อขายและแลกเปลี่ยนคาร์บอน เพื่อนำไปใช้ในการบรรลุเป้าหมายขององค์กรที่กำหนดไว้ หรือเพื่อชดเชย (Offset) การปล่อยที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ ตลาดคาร์บอนมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ 1) ภาคบังคับ บังคับใช้กับภาคธุรกิจต่าง ๆ ให้ต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 2) ภาคสมัครใจ อันเป็นการดำเนินการขององค์กรที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

โดยขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการจัดทำ พ.ร.บ.ลดโลกร้อน เพื่อบังคับใช้คาร์บอนเครดิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต

ในระหว่างที่ประเทศไทยยังไม่มีตลาดคาร์บอนภาคบังคับ เพราะยังไม่มีกฎหมาย ทว่า ประเทศไทยมีตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจที่ดำเนินโดยองค์กรมหาชน ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ชื่อว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) 

อบก. ร่วมกับผู้ประเมินจากภายนอกจะทำหน้าที่วิเคราะห์ กลั่นกรอง และรับรองโครงการด้านการลด/การดูดกลับ หรือเก็บกักก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ใน โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ซึ่งมีโครงการ 2 ลักษณะ ได้แก่ 

  1. โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในระดับนโยบายหรือระดับโครงการ โดยเป็นการลดจากกิจกรรมการผลิต การใช้พลังงาน การขนส่ง กิจกรรมการเกษตร การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการจัดการของเสีย
  2. โครงการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การดูดกลับลงในชั้นใต้ดิน การปลูกต้นไม้เพื่อดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น

จากการดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน มีโครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิตจาก อบก. จำนวน  345 โครงการ สามารถรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

วิธีซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต

เปิดบัญชี T-VER Credit ในระบบลงทะเบียนของ อบก. เพื่อบันทึกคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองมาแล้ว และตัดออกจากบัญชีเมื่อมีการใช้งานคาร์บอนเครดิต ส่วนการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยทำได้ผ่าน FTIX แพลตฟอร์มออนไลน์ซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตแห่งแรกของไทย หรือแพลตฟอร์มต่างประเทศก็เช่น CBL Xpansiv, Air Carbon Exchange หรือ Carbon Trade Exchange เป็นต้น

ตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในไทย เติบโตแค่ไหน

ประเทศไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ณ เมษายน 2567 มีจำนวน 3,258,033 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) มูลค่าการซื้อขายรวม 292 ล้านบาท คิดเป็นราคาเฉลี่ยตันละ 89.6 บาท เฉพาะในปี 2567 ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทยปี 2567 มีมูลค่า 73,019,230 บาท ปริมาณ 442,879 tCO2e คาร์บอนเครดิตเป็นหนึ่งในเป้าหมายระดับชาติ และมีการซื้อ-ขายเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยโครงการที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุดในไทย ได้แก่ โครงการประเภทชีวมวล (41%) แต่ได้รับผลตอบแทนต่ำเพียง 36 บาทต่อตัน และโครงการประเภทป่าไม้ 23% ซึ่งมีราคาเฉลี่ยสูง 290 บาทต่อตัน โดยในปี 2567 มีผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 510 บาทต่อตัน

ทว่า ตัวเลขนี้คิดเป็นเพียง 0.77% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยทั้งหมด ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนที่ประเทศไทยตั้งไว้ในปี 2593 สาเหตุหลักที่ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยโตช้ามาจากต้นทุนการดำเนินการ ต้นทุนค่าประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิต รวมถึงข้อจำกัดในการทำโครงการต่าง ๆ ที่ปิดกั้นผู้พัฒนาโครงการรายเล็กที่เงินทุนจำกัด โดยเฉพาะโครงการภาคป่าไม้ซึ่งจะที่เป็นที่ต้องการมากในอนาคต

หากปลดล็อกข้อจำกัดเหล่านี้ไปได้ ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตแห่งอาเซียนสมดังตั้งใจ


Photo: Rawpixel