Grid Brief

  • ไฟเซอร์ ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ของสหรัฐอเมริกากำลังทดลองยาต้านไวรัสตัวใหม่ชนิดเม็ดรับประทาน สำหรับรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในระยะเริ่มต้น ซึ่งหากได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จะเตรียมผลิตจำหน่ายในสิ้นปี พ.ศ. 2564
  • วัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาแบบไร้เข็ม หรือชนิดที่ใช้หยอดผ่านช่องปากกำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบ โดยความร่วมมือของ Oramed Pharmaceuticals Inc. กับบริษัท Premas Biotech จากอินเดีย ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าจะส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย Immunoglobulin A (IgA) และ Immunoglobulin G (IgG) ได้

เมื่อทั่วโลกกำลังเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรในประเทศ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และเร่งฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาโดยเร็วนั้น แว่วมาว่าสิ้นปีนี้ Pfizer (ไฟเซอร์) เตรียมผลิตยารักษาโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น ขณะที่วัคซีนต้านโควิด-19 แบบหยอดทางปากกำลังอยู่ในระหว่างการทดลองของสองบริษัทยักษ์ใหญ่ Oramed Pharmaceuticals Inc. และ Premas Biotech

มารู้จักกับยาเม็ดรักษาโควิด-19 ‘PF-07321332’

เป็นที่รู้กันดีว่า ไฟเซอร์เป็นผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ของสหรัฐอเมริกา และตอนนี้ก็กำลังทดลองยาเม็ดสำหรับต้านไวรัสชนิดใหม่ของโรคโควิด-19 ซึ่งไม่ใช่ตัวยาชนิดเดียวกับวัคซีนที่ใช้ป้องกันผู้คนจากไวรัสโควิด-19 แต่เป็นยาที่ใช้รักษาผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในระยะเริ่มต้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยนำกลับมารับประทานเองที่บ้าน และไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนเตียงผู้ป่วยและทรัพยากรทางการแพทย์ รวมถึงลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่นได้อีกด้วย 

ข้อมูลจาก CBS News ระบุว่า ยา PF-07321332 เป็นยาที่มีคุณสมบัติลดการผลิตเอนไซม์ที่มีชื่อว่า ‘โปรตีเอส’ (Protease) เป็นเอนไซม์ย่อยโปรตีนในร่างกายมนุษย์ และเป็นเอนไซม์ที่ไวรัสโคโรนาจำเป็นต้องใช้ในการขยายเครือข่ายของมัน ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย จะสร้างโปรตีนที่มีขนาดยาว เป็นโปรตีนหลายตัวเชื่อมต่อกัน และจำเป็นต้องมีเอนไซม์สำหรับย่อยโปรตีนเพื่อทำให้โปรตีนที่ยาวนั้นกลายเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยแต่ละชิ้นจะทำหน้าที่แตกต่างกันไป และยา PF-07321332 ที่ใช้ในการยับยั้งโปรตีเอสนั้น ก็เป็นชนิดเดียวกับที่ใช้รักษาโรคเอดส์และไวรัสตับอักเสบซีอีกด้วย


ยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่ใช้ในปัจจุบัน 

ปัจจุบันยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 มี 4 ชนิด ได้แก่ 

1. Remdesivir ผลิตโดย Gilead Sciences เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้วิธีฉีดทางหลอดเลือดดำ แต่มีการพิสูจน์ว่า ช่วยลดระยะเวลาในการรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้เพียงเล็กน้อย และในการฉีดให้ผู้ป่วยก็มีข้อจำกัดที่ต้องฉีดในโรงพยาบาลเท่านั้น

2. Favipiravir เป็นยาชนิดรับประทานที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ผลิตและจำหน่ายโดย Glenmark Pharmaceuticals ประเทศอินเดีย 

3. Itolizumab ใช้รักษาอาการติดเชื้อในระดับปานกลางถึงรุนแรง 

4. Tocilizumab สำหรับผู้ป่วยขั้นรุนแรง ซึ่งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้เพียง 3.8% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยา Itolizumab และ Tocilizumab นิยมใช้รักษาผู้ป่วยในอินเดีย

ไฟเซอร์ ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ของสหรัฐอเมริกากำลังทดลองยาต้านไวรัสตัวใหม่ชนิดเม็ดรับประทาน สำหรับรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในระยะเริ่มต้น ซึ่งหากได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จะเตรียมผลิตจำหน่ายในสิ้นปี พ.ศ. 2564

ความหวังใหม่ ‘PF-07321332’

สำหรับยาเม็ดชนิดใหม่ PF-07321332 ของไฟเซอร์นั้น ได้เริ่มทดลองมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในอาสาสมัครจากสหรัฐอเมริกาและเบลเยียมที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปี ข้อมูลบนเว็บไซต์ clinicaltrials.gov ระบุว่า สถานที่ทดลองยาเม็ดรักษาโควิด-19 ของไฟเซอร์ในสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ในเมืองนิว ฮาเวน รัฐคอนเนกติกัต และกรุงบรัสเซลส์  ประเทศเบลเยียม นอกจากนี้ เดอะ เทเลกราฟ หนังสือพิมพ์สัญชาติอังกฤษ ระบุเพิ่มว่า การทดลองยาเม็ดที่ว่านี้จะแบ่งออกเป็น 3 เฟส ใช้เวลาทั้งหมด 145 วัน โดยทั้ง 3 เฟสจะสรุปผลการทดลองได้ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ 

หากผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ และคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอนุมัติยาดังกล่าวแล้ว จะถูกแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทั่วสหรัฐอเมริกาในสิ้นปี 2564 นี้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ายาในรูปแบบเม็ดอาจจะสร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ให้กับโรคระบาดนี้ แต่ไฟเซอร์จะยังคงผลิตวัคซีนที่ใช้สำหรับฉีดป้องกันไวรัสโคโรนาอยู่ดี

ความคืบหน้าของวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิดหยอดทางปาก

ไม่เพียงแต่ไฟเซอร์ที่กำลังทดลองยาเม็ดรักษาโรคโควิด-19 สำหรับผู้ติดเชื้อในระยะเริ่มต้นเท่านั้น ปัจจุบันวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาก็มีการทดลองแบบใช้หยอดผ่านช่องปากแทนการฉีด จากความร่วมมือของ Oramed Pharmaceuticals Inc. บริษัทอิสราเอล-อเมริกัน (เป็นบริษัทร่วมทุนกับ Oravax Medical Inc.ซึ่ง Oramed ถือหุ้นใหญ่ 63%) กับบริษัท Premas Biotech จากอินเดีย ที่ร่วมกันพัฒนายาอินซูลินสำหรับต้านโควิด-19 เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่กลัวเข็ม และไม่ต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ การทดลองทางการแพทย์เข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว พบว่า ร่างกายผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แบบหยอดทางปากจะสามารถสร้างแอนติบอดีหลังได้รับการหยอดเพียงครั้งเดียว 

นอกจากนี้ ในการศึกษากับสัตว์ทดลอง การให้วัคซีนโควิด-19 ผ่านช่องปากของสัตว์ ยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันผ่าน Immunoglobulin G (IgG) ซึ่งเป็นแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันที่อยู่ในเลือดและของเหลวในร่างกายถึงร้อยละ 75 มีอานุภาพในการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย รวมทั้ง Immunoglobulin  A (IgA) แอนติบอดีที่พบมากในเยื่อเมือกโดยเฉพาะเยื่อเมือกทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ช่องคลอด น้ำตา และน้ำลาย โดยภูมิคุ้มกันนี้จะป้องกันร่างกายจากสิ่งแวดล้อม 

การทดสอบทางการแพทย์เกี่ยวกับวัคซีนชนิดหยอดทางช่องปาก เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา จะช่วยขจัดอุปสรรคหลายประการ ทั้งการแพร่กระจายของไวรัสในวงกว้างและรวดเร็ว ทำให้ผู้คนรับวัคซีนไปหยอดเองที่บ้าน และหากได้รับวัคซีนโควิด-19 เป็นประจำทุกปีเช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้ว  ก็จะช่วยเสริมให้วัคซีนโควิด-19 มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นด้วย

Cover Illustration โดย ANMOM