Grid Brief
- วัยเด็กมักมีภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรงกว่าวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะวัยผู้สูงอายุ เราจึงพบว่าเมื่อเด็กติดเชื้อโควิด-19 จะแสดงอาการรุนแรงและมีอัตราการตายต่ำเพียง 0.01% เท่านั้น
- เด็กวัย 1-10 ปี พบว่า มีอาการรุนแรงของโรคโควิด-19 ต่ำสุด ส่วนทารกอายุต่ำกว่า 1 ปีจะมีความเสี่ยงของความรุนแรงมากกว่าเนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่ดีพอ
- ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาอนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กวัย 5-11 ปีแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้เริ่มฉีดในเด็กวัย 12-18 ปี
ยิ่งอายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนเราก็ยิ่งอ่อนแอลง และนี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ติดเชื้อโควิด-19 จึงมักอาการไม่รุนแรงและมีอัตราเสียชีวิตต่ำกว่าวัยผู้ใหญ่
โควิด-19 ในเด็ก อาการไม่รุนแรง อัตราเสียชีวิตต่ำ
ในขณะที่โรงเรียนหลายแห่งเริ่มเปิดให้เด็ก ๆ กลับเข้าเรียนกันตามปกติแล้ว หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยเองต่างเร่งทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้เด็กวัยเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค เป็นวัคซีนชนิดเดียวในปัจจุบัน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S Food and Drug Administration หรือ USFDA) ให้นำมาใช้ฉีดสำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี และล่าสุดสหรัฐอเมริกาเพิ่งให้การรับรองการฉีดวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทคอย่างเป็นทางการให้กับเด็กอายุตั้งแต่ 5-11 ปี โดยจะใช้ปริมาณเพียง 1 ใน 3 โดสของผู้ใหญ่ สำหรับเด็กวัยนี้
ขณะที่วัคซีนโมเดอนานั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาสำหรับการใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี รวมไปถึงวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้วางแผนที่จะทดลองใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปีเช่นเดียวกัน สำหรับประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนในกลุ่ม mRNA ซึ่งขณะนี้ไฟเซอร์เป็นเพียงยี่ห้อเดียว ที่มีการนำเข้ามาใช้กับเด็กอายุ 12-17 ปี ส่วนวัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่นๆ ยังไม่มีการนำมาใช้กับเด็กวัยดังกล่าว เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยและหลักฐานรองรับถึงประสิทธิภาพมากเพียงพอ อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการรุนแรงของโรคค่อนข้างต่ำ รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับวัยผู้ใหญ่หรือคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ ข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 กันยายน 2564 ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตของชาวอเมริกันที่ได้รับเชื้อโควิด-19 และมีอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่ที่ 0.01% เท่านั้น ในขณะที่ช่วงอายุ 18-29 ปี มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.05% ช่วงอายุ 30-39 อยู่ที่ 0.15% และช่วงอายุ 40-49 อยู่ที่ 0.40% ส่วนผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนการเสียชีวิตถึง 94% ของผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ทั้งหมดในสหรัฐ สอดคล้องกับข้อมูลในประเทศไทยที่พบว่า แม้จะมีการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปีในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตน้อยมาก
ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาอนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กวัย 5-11 ปีแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้เริ่มฉีดในเด็กวัย 12-18 ปี
เดลตาที่ว่าน่ากลัว กลับไม่มีผลในวัยเด็ก
แม้ว่าเด็ก ๆ จะมีโอกาสได้รับเชื้อและแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนาได้ไม่ต่างจากวัยผู้ใหญ่ แต่ความเสี่ยงของการติดเชื้อก็ยังนับว่าน้อยกว่าผู้ใหญ่อยู่ดี แม้แต่เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่สามารถแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ผ่านมา กลับพบว่าเด็กที่ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวไม่ได้มีอาการรุนแรง ย่ำแย่ หรือเจ็บป่วยมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ แต่อย่างใด
Betsy Herold แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก แห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์ Albert Einstein (Albert Einstein College of Medicine) ประมาณไว้ว่า จำนวนเด็กที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาและเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมีต่ำกว่า 2% และอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อต่ำกว่า 0.03% “แม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กและโควิด-19 มากนัก แต่ข้อมูลที่มีชี้ให้เห็นว่า เด็กมีความเสี่ยงต่ำมากที่จะเผชิญอาการ ‘ลองโควิด’ (Long COVID : อาการที่ยังหลงเหลือหลังจากหายติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว 4 สัปดาห์) หรือเกิดอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกาย (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children)” นายแพทย์ Besty Herold กล่าวย้ำ
สิ่งที่น่ากลัวคือ เด็กรุ่นใหม่มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ด้วยร่างกายที่มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรคและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เองตามธรรมชาติ เมื่อประกอบกับการได้รับวัคซีน ร่างกายก็จะสามารถทำลายเชื้อไวรัสโคโรนาได้เมื่อเวลาผ่านไป
เด็กอายุต่ำกว่า 1-10 ปี ความเสี่ยงต่ำสุด
แม้เด็กจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงกว่าผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แต่เด็กในวัยทารกถือเป็นข้อยกเว้น โดย Shamez Ladhani ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็กที่โรงพยาบาล St. George ในลอนดอน เผยว่า เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีที่ติดเชื้อโควิด-19 มักมีอาการไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุ แต่สำหรับทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าเด็กโตเล็กน้อย เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันไม่มากพอ
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลเปรียบเทียบการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในแต่ละช่วงวัย พบว่า โควิด-19 คร่าชีวิตเด็กอเมริกันที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีไปแล้ว 280 คน (ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2564) ซึ่งเป็นช่วงที่สายพันธุ์รุนแรงอย่างอัลฟาและเดลตากำลังระบาด แต่ก็นับว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับวัยผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกัน ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน The Lancet Child & Adolescent Health ได้เก็บตัวอย่างจากเด็กในกลุ่มอายุ 5-17 ปี จำนวน 1,700 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร พบว่า มีเด็กจำนวนไม่ถึง 2% เท่านั้นที่เผชิญอาการ ‘ลองโควิด’ อย่างน้อย 8 สัปดาห์ และความรุนแรงของอาการจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
แม้ว่าในปัจจุบัน สถานการณ์โรคโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายลงในบางประเทศ แต่คาดกันว่าโรคระบาดนี้จะยังคงอยู่กับโลกของเราต่อไปอีกแสนนาน เหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่ครั้งหนึ่งในอดีตเคยเป็นโรคร้ายแรงและน่ากลัวเช่นเดียวกับโรคโควิด-19
ที่มา
- https://www.vox.com/22699019/covid-19-children-kids-risk-hospitalization-death
- https://edition.cnn.com/2021/10/27/health/covid-vaccine-child-size-dose-wellness/index.html
- https://edition.cnn.com/2021/11/03/health/covid-19-vaccines-children-younger-than-5-wellness/index.html
- https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ภาวะ-long-covid-ลองโควิด-เมื่อโรค/
- https://www.bangkokbiznews.com/health/969119
- https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/recommendations/children-teens.html