Grid Brief

  • จากผลการศึกษาพบว่า ขมิ้นมีสารอาหาร ‘Curcumin’ (เคอร์คูมิน) ที่พบความเชื่อมโยงว่าช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นได้ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเยียวยาปัญหาสุขภาพจิต ร่วมกับการดูแลตนเองในด้านต่าง ๆ เช่น ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา นอนหลับให้เพียงพอ และออกกำลังกาย

เครื่องเทศสีเหลืองแกมแสดที่หาได้ง่ายในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง จึงกลายเป็นหนึ่งในส่วนผสมของเมนูขาประจำในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่อาหารเมดิเตอร์เรเนียน แกงกะหรี่ไปจนถึงแกงไตปลา 

ทว่า มีผลการศึกษาที่พบว่า เครื่องเทศสีเหลืองสุกสกาวนี้อาจมีผลต่อการรักษาอาการซึมเศร้าได้ 

ในเหง้าขมิ้นมีสารเคอร์คูมินประมาณ 2-9% ซึ่งมีผลการศึกษาพบว่า สารเคมีตัวนี้ช่วยบรรเทาอาการอักเสบในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งมีหลักฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าการอักเสบในร่างกายเชื่อมโยงกับอาการซึมเศร้า 

ดังนั้น สารต้านอักเสบในขมิ้นจึงส่งผลในแง่บวกต่ออารมณ์ ดังที่ Michele Goldman จิตแพทย์จาก Columbia Health ในนิวยอร์กซิตีกล่าว 

สารเคอร์คูมินในขมิ้นช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นได้เนื่องจาก

  • ส่งผลต่อฮอร์โมนเซโรโทนินและโดปามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม
  • ช่วยเปลี่ยนสมองส่วนที่ตอบสนองต่อความเครียด
  • ป้องกันการทำลายไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) ซึ่งเป็นอวัยวะขนาดเล็กของเซลล์ ทำหน้าที่ผลิตพลังงาน
Credit: Freepik

กินขมิ้นแค่ไหนจึงแก้ซึมเศร้าได้

เรารับสารเคอร์คูมินผ่านการกินอาหารใส่ขมิ้นและอาหารเสริม แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากร่างกายดูดซึมขมิ้นและสารเคอร์คูมินได้ยาก และหากได้รับในปริมาณมากเกินไปก็อาจท้องเสียได้ ดังนั้น แนะนำให้ลองเติมขมิ้นเข้าไปในเมนูอาหารทีละน้อยเพื่อทดลองดูการตอบสนองของร่างกาย เช่น ใส่ขมิ้นจำนวนน้อย ๆ เมื่อปรุงผัก ข้าว หรือไข่ ลองทำสมูตตีใส่ขมิ้น หรือเติมลงในนมหรือน้ำชา 

ลองทำตามผลการทดลองเรื่องสารเคอร์คูมินในขมิ้นส่งผลต่ออาการซึมเศร้าอย่างไร นักวิจัยให้ผู้เข้าร่วมกินอาหารเมดิเตอร์เรเนียนเติมขมิ้น 1 ช้อนชาทุกวัน 

Credit: Freepik

กินขมิ้นอย่างเดียว ไม่แก้ซึมเศร้า 

อย่างไรก็ตาม ขมิ้นไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่กินสมุนไพรชนิดนี้อย่างเดียวแล้วอาการซึมเศร้าจะหายได้ แต่ต้องทำร่วมกับวิธีการต่าง ๆ ต่อไปนี้ 

  1. พบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา กินยาตามแพทย์สั่ง อย่าท้อหากอาการไม่ดีขึ้น เพราะต้องใช้เวลา หรืออาจเปลี่ยนหมอจนเจอคนที่มีวิธีการรักษาที่ใช่กับเรา 

บัตรทองมอบสิทธิการรักษาอาการทางสุขภาพจิต แต่อาจเจอปัญหาผู้ใช้บริการแออัด ต้องรอคิวพบแพทย์นาน  ฉะนั้น จึงมีตัวเลือกอื่น ๆ เช่น แอปพลิเคชันให้บริการปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาทางออนไลน์ ซึ่งใช้เทเลเมดิซีนเข้ามาช่วยในการทำแอปฯ เพื่อให้จิตแพทย์และนักจิตฯ เข้าถึงคนไข้ได้มากขึ้น เป็นต้น 

สำหรับเยาวชนอายุ 15-25 ปีที่พำนักในกรุงเทพฯ สามารถใช้บริการ OOCO (อูก้า) แพลตฟอร์มด้านสุขภาพออนไลน์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านโครงการกำแพงพักใจ (Wall of Sharing) ที่ทางแพลตฟอร์มจับมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กรมสุขภาพจิต แล ะสปสช. กทม. เพื่อให้เยาวชนคนหนุ่มสาวใช้บริการปรึกษาสุขภาพจิตออนไลน์ได้ฟรี 

  1. ฝึก Mindsight หรือการฝึกสติรู้เท่าทันแพตเทิร์นอารมณ์ตัวเอง เพื่อให้ดักจับอารมณ์ของตัวเองและตัดได้ก่อนที่จะระเบิดหรือดำดิ่งไปตามอารมณ์  
  2. นอนหลับให้พอ การนอนที่ไม่เพียงพอเป็นตัวการอันดับต้น ๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต ประสิทธิภาพการทำงาน ไปจนถึงความสัมพันธ์   
  3. ออกกำลังกาย ควรเลือกออกกำลังกายที่ไม่ทำให้ร่างกายเครียดมากขึ้น เช่น โยคะ พิลาทิส หรือเดินไกล เพื่อให้เลือดลมไหลเวียน และสมองปล่อยฮอร์โมนความสุขออกมาปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น  
  4. กินอาหารที่ดีต่อระบบย่อย ควรกินโพรไบโอติกส์หรือจุลินทรีย์ชนิดดีในระบบย่อยทำงานได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เช่น โยเกิร์ต ซุปมิโสะ คอมบูฉะ ถั่วนัตโตะ รวมไปถึงขมิ้น ร่วมกับกินยารักษาโรคกระเพาะให้หายด้วย 
  5. ใช้เครื่อง dTMS (Deep Transcranial Magnetic Stimulation) เป็นนวัตกรรมที่ส่งกระแสแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นสมอง ช่วยรักษาอาการทางจิตเวชได้หลายอย่าง เช่น ซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ ฯลฯ เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการหายจากโรคซึมเศร้าได้ 

ไม่ว่าจะเป็นการกินขมิ้น หรือทำตามวิธีการทั้ง 6 ข้อข้างต้นนี้ สิ่งสำคัญคือการทำอย่างสม่ำเสมอ แม้จะทำทีละเล็กละน้อย แต่หากยืนระยะทำต่อเนื่องได้ โอกาสในการเยียวยาตนเองก็จะพอกพูนขึ้นไปตามความพยายามของเรา