Grid Brief
- ในช่วงระหว่างผจญโรคระบาด การเสพข่าวสารอย่างมีสติ และเช็กความถูกต้องของข้อมูล จะช่วยให้เราไม่ตื่นตระหนกเกินไป
- ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เสียชีวิต ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสุขภาพที่มีอยู่เดิม ทำให้ภูมิต้านทานน้อย ผู้ป่วยสูงอายุหรือมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว จึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
- โรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน มีอาการร่วมบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีอาการบางอย่างที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะช่วงเวลาของการแสดงอาการเมื่อได้รับเชื้อ
ถึงตอนนี้ โรคโควิด-19 กลายเป็นความหวาดระแวงของผู้คนทั่วโลก ขณะเดียวกันบนสังคมออนไลน์ก็เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่างๆ ที่ผ่านมาบนหน้าฟีดของเราในแต่ละวันแบบเรียลไทม์ รวดเร็ว ทั้งยังมีปริมาณมหาศาล จนยากต่อการพิจารณา
วันนี้ GRID จึงรวบรวมข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) และ Mayo Clinic โรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นโรงพยาบาลดีที่สุดในโลกปี พ.ศ.2563 โดย Newsweek เพื่อให้ทุกคนได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าใจโรคโควิด-19 เพื่อการรับมืออย่างมีสติ
- ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่เสียชีวิต ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยเองด้วย เช่น มีภาวะของโรคหัวใจหรือโรคปอดอยู่แล้ว หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือมีปัญหาโรคอ้วนรุนแรงและเป็นโรคเบาหวาน การเป็นโรคโควิด-19 จึงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับผู้ป่วยเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) จึงระบุว่า การเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีสาเหตุที่นอกเหนือจากเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้ผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้วจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
- จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไม่เกี่ยวข้องกับจำนวนการทดสอบหาเชื้อที่เพิ่มขึ้น และสิ่งที่น่ากลัวมากกว่าคือการขยายตัวของเปอร์เซ็นต์ผลตรวจที่เป็นบวก เพราะแสดงว่า เชื้อไวรัสกำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในชุมชน ซึ่งการทดสอบหาเชื้อโควิด-19 นั้นสำคัญมาก เพราะจะช่วยแยกผู้ที่ติดเชื้อออกจากกลุ่มคน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างเคร่งครัด
- โรคโควิด-19 แม้จะมีอาการร่วมบางอย่างที่คล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากเป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่ติดต่อจากเชื้อไวรัสเหมือนกัน แต่ไวรัสทั้งสองชนิดนี้ส่งผลแตกต่างกัน และระยะเวลาแสดงอาการก็ต่างกัน เพราะโรคโควิด-19 จะปรากฏอาการภายใน 2-14 วันหลังจากได้รับเชื้อ ในขณะที่ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะมีอาการภายใน 1-4 วันหลังได้รับเชื้อ นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 จะสูญเสียการได้กลิ่นและการรับรู้รสชาติ ในขณะที่ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ไม่ปรากฏอาการดังกล่าว
โรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน มีอาการร่วมบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีอาการบางอย่างที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะช่วงเวลาของการแสดงอาการเมื่อได้รับเชื้อ
- จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่า อาหารสดอย่างผักหรือผลไม้ ทำให้คนติดเชื้อโควิด-19 ได้ ตรงกันข้าม ผักผลไม้สดเป็นอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ ช่วยสร้างภูมิต้านทานได้ จึงควรส่งเสริมให้บริโภคเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงที่รู้สึกไม่ค่อยสบาย
- ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุว่าอาหารชนิดใดช่วยรักษาอาการป่วยของโรคโควิด-19 ได้ แต่มีอาหารและเครื่องดื่มบางอย่างที่ใช้บรรเทาอาการได้ เช่น การดื่มน้ำเปล่าช่วยขับเหงื่อช่วงที่เป็นไข้ หรือการจิบชาผสมน้ำผึ้ง ช่วยให้ชุ่มคอและบรรเทาอาการไอได้
- เชื้อไวรัสโคโรนาจะมีชีวิตอยู่รอดและเพิ่มจำนวนได้ เมื่อเกาะอยู่บนสิ่งมีชีวิต เช่น สัตว์และมนุษย์เท่านั้น แต่ไม่สามารถขยายจำนวนบนพื้นผิวของบรรจุภัณฑ์อาหารได้ แต่ถึงอย่างไรเพื่อสุขอนามัยที่ดีก็ควรล้างมือให้สะอาดเมื่อจับหรือแกะผลิตภัณฑ์ห่ออาหาร รวมทั้งล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
- ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ถูกกำจัดได้ที่อุณหภูมิใกล้เคียงกับการกำจัดแบคทีเรียในอาหาร ฉะนั้น การบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์และไข่ ควรปรุงสุกอย่างน้อยที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส
- เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้ตัวเอง ควรบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่และมีความหลากหลาย เช่น เมล็ดธัญพืช พืชตระกูลถั่ว ผักผลไม้สด โปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
- เป็นความเข้าใจผิดที่ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถทำลายหรือฆ่าเชื้อไวรัสได้ ซึ่งความเป็นจริงแล้วแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 60% จะช่วยฆ่าเชื้อไวรัสได้เฉพาะที่อยู่บนผิวหนังของคนเท่านั้น ฉะนั้น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ได้มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะในอากาศที่หายใจเข้าไป ภายในช่องปากและลำคอ ตลอดจนไม่ได้มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อโควิด-19
ที่มา
- https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/question-and-answers-hub/q-a-detail/coronavirus-disease-covid-19-food-safety-and-nutrition
- http://www.emro.who.int/nutrition/nutrition-infocus/nutrition-advice-for-adults-during-the-covid-19-outbreak.html
- https://www.euro.who.int/__data/assets/pdf_file/0010/437608/Alcohol-and-COVID-19-what-you-need-to-know.pdf
- https://www.mayoclinichealthsystem.org/hometown-health/featured-topic/11-covid-19-myths-debunked