เมื่อขยะรีไซเคิลจะถูกนำกลับไปผลิตเพื่อนำมาใช้งานใหม่ แล้วเคยนึกสงสัยกันบ้างไหมว่า ขยะที่รีไซเคิลไม่ได้เล่า จะไปอยู่ที่ไหน แล้วเราควรจัดการกับขยะเหล่านั้นอย่างไรดี
ขยะ = พลังงาน
จากรายงานฉบับล่าสุดของ Policy Connect องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งทำงานวิจัยเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะในประเทศอังกฤษแนะนำว่า รัฐบาลอังกฤษสามารถเปลี่ยนขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ร้อยละ 80 (จำนวน 27.5 ล้านตัน) ให้กลายเป็น Green Heat หรือพลังความร้อนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปฏิบัติการนี้ยังช่วยให้ยับยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 4 ล้านตัน ส่วนพลังความร้อนสีเขียวที่ได้จากขยะที่รีไซเคิลไม่ได้นี้จะถูกลำเลียงไปให้ใช้งานตามครัวเรือนได้มากถึง 5 แสนหลังคาเรือน
ขยะสร้างเศรษฐกิจใหม่
รายงานของ Policy Connect ยังเปิดเผยตัวเลขว่า นับตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา ธุรกิจจัดการขยะมีบทบาทในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 69 จึงกล่าวได้ว่าธุรกิจจัดการขยะช่วยเกื้อกูลให้ธุรกิจด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคคมนาคม อุตสาหกรรมและพลังงานในครัวเรือนของอังกฤษบรรลุจุดหมายในการตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ได้
หากอังกฤษมีโรงงานเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานที่ติดตั้งเทคโนโลยีจับและจัดเก็บคาร์บอนเหมือนอย่างโรงงานในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งสามารถจับก๊าซคาร์บอนได้ปีละ 400,000 ตัน เทียบเท่ากับการนำรถยนต์ออกจากท้องถนนได้ปีละ 60,000 คันเลยทีเดียว ส่วนพลังงานความร้อนที่ได้จากขยะเหล่านี้ก็ช่วยให้พลเมืองของเมืองเบอร์มิงแฮม ลิเวอร์พูลหรือว่าแมนเชสเตอร์มีพลังงานใช้กันได้สบาย และยังสามารถผลิตเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำป้อนให้กับรถบรรทุกและเครื่องบินได้อีกด้วย
ปัจจุบันอังกฤษต้องใช้เงินปีละ 280 ล้านปอนด์ (ประมาณ 11,000 ล้านบาท) ที่ได้จากภาษีของประชาชน มาใช้ในการลำเลียงขยะรีไซเคิลไม่ได้เหล่านี้ไปทางเรือ เพื่อนำไปทิ้งที่ ‘ถังขยะ’ ในประเทศอื่น แต่ด้วยนโยบายใหม่ด้านพลังงานนี้จะช่วยให้มีเม็ดเงินหลายพันล้านปอนด์จากภาคเอกชนที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจจัดการขยะ ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและทำให้เกิดการจ้างงานได้อย่างมากมาย
นโยบายสไตล์สแกนดิเนเวีย
แนวคิดการเปลี่ยนจากขยะให้กลายเป็นพลังงาน หรือ Energy-from-Waste (EfW) นี้ ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ‘นโยบายสแกนดิเนเวีย’ เนื่องจากหลายประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียต่างก็มีนโยบายด้านพลังงานดังนี้คือ
- ยุติการขนส่งขยะรีไซเคิลไม่ได้ไปทิ้งในต่างประเทศ
- ประกาศนโยบายใหม่ระดับชาติที่ช่วยขับเคลื่อนการลงทุนไปสู่การก่อสร้างโรงงานผลิตพลังงานจากขยะ
- กำจัดพลาสติกออกจากสายพานการผลิตขยะที่รีไซเคิลไม่ได้
ในรายงานฉบับนี้ยังมีข้อเสนอแนะอีกว่า เราควรเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อขยะเสียใหม่ จากเดิมที่เคยมองขยะว่าเป็นสิ่งไร้ค่า ที่ต้องกำจัดทิ้ง แต่ปัจจุบันขยะคือแหล่งทรัพยากรอันมีค่า นอกจากนี้ควรมีการปฏิบัติกับขยะเช่นที่กลุ่มประเทศในสแกนดิเนเวียทำ ก็คือการนำขยะไปผลิตเป็นพลังงานความร้อนและเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่นำมาใช้ประโยชน์ได้