Grid Brief

  • เมื่อเอลนีโญที่ทำให้เอเชียและออสเตรเลียร้อนขึ้นอ่อนลง จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2567
  • จากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 60 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาที่ทำให้เอเชียและออสเตรเลียเย็นขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 และคาดว่าในไทยจะมีฝนตกปานกลางในช่วงดังกล่าว

หลังจากเอลนีโญทำให้เมืองไทยมีฤดูกาลใหม่ นอกจากฤดูร้อนและร้อนมาก ยังมี ‘ฤดูร้อนที่ทำให้ผ้าแห้งใน 15 นาทีและแค่วางไข่ตากแดดไว้เฉย ๆ ก็กลายเป็นไข่ลวกได้’ ด้วยอุณหภูมิระดับ 40 องศาเซลเซียส+ ถ้วนหน้าทั่วไทย

เอลนีโญที่เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2566  และไปถึงจุดพีคในเดือนธันวาคมปีเดียวกันเช่นกัน บัดนี้ได้คลายตัวไปเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้ คำถามคือ “ลานีญาจะเกิดขึ้นต่อจากนี้หรือไม่ และจะเกิดขึ้นเมื่อไร” 

Credit: Freepik

ก่อนอื่นมาฟื้นความเข้าใจกันก่อนว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาคืออะไร ปรากฏการณ์เอนโซ (ENSO-El Niño-Southern Oscillation) คือ ความผันแปรของปรากฏการณ์ธรรมชาติสองอย่างในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่

Credit: oceanservice.noaa.gov

ปรากฏการณ์เอลนีโญ คือ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลฝั่งตะวันออกถึงตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเขตศูนย์สูตรอุ่นขึ้นผิดปกติ 

Credit: oceanservice.noaa.gov

ปรากฏลานีญา คือ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลฝั่งตะวันออกถึงตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเขตศูนย์สูตรเย็นลงผิดปกติ 

เดิมทีเอลนีโญและลานีญาจะเกิดขึ้นสลับกันทุก ๆ 18-36 เดือน แต่ภาวะโลกรวนส่งผลให้คาบการเกิดไม่แน่นอน ผลกระทบจากสองปรากฏการณ์นี้คือ เมื่อเกิดเอลนีโญจะทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียตอนเหนือแห้งแล้งและเกิดไฟป่า แต่เมื่อเกิดลานีญาจะทำให้เกิดฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียตอนเหนือ 

ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เอลนีโญแผลงฤทธิ์ เป็นเหตุให้เมืองไทยร้อนระอุทะลุ 44 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่ เช่น แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก และอุดรธานี 

ข่าวดีคือรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาเมื่อเดือนเมษายน 2567 คาดว่า ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังอ่อนนี้จะอ่อนลง และเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน จากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 60 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 

Credit: Rawpixel

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย กรมอุตุฯ คาดว่าในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2567 ปริมาณฝนบริเวณประเทศไทยมีค่าใกล้เคียงกับค่าปกติ ส่วนอุณหภูมิจะสูงกว่าค่าปกติ

จากการคาดการณ์ปริมาณฝน ปริมาณฝนมาตรฐานที่ผิดปกติ และค่าดัชนีความแห้งแล้ง เนื่องจากฝนที่ต่างจากค่าปกติราย 3 เดือน พบว่า ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2567 จะมีฝนตกชุกปานกลางบริเวณภาคกลางตอนล่างและด้านตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนบริเวณอื่น ๆ จะมีปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติตลอดถึงช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567

พื้นที่ไหนร้อนไม่ไหว รอรับสายฝนมาดับร้อนได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


Photo: Jcomp