Grid Brief
- มาชูปิกชู โบราณสถานบนหุบเขาอายุกว่า 3,500 ปีในประเทศเปรู เป็นมรดกโลก เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ในโลกยุคใหม่ และยังเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งแรกและแห่งเดียวในโลกที่ได้ตรารับรองความเป็นกลางทางคาร์บอน จากการรีไซเคิลขยะ เปลี่ยนน้ำมันใช้แล้วเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ย่อยสลายวัตถุอินทรีย์ ไปจนถึงปลูกต้นไม้พื้นเมืองฟื้นฟูระบบนิเวศ
มาชูปิกชู หรือ ‘เมืองสาบสูญแห่งอินคา’ โบราณสถานบนหุบเขาอายุกว่า 3,500 ปีในประเทศเปรู กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งแรกและแห่งเดียวของโลกที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
ย้อนกลับไปใน พ.ศ.2564 เป็นครั้งแรกที่มาชูปิกชูได้รับตรารับรองความเป็นกลางทางคาร์บอนจาก Green Initiative บริษัทชั้นนำด้านการรับรองสภาพภูมิอากาศในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งการจะได้ตรารับรองนี้มา ทาง Green Initiative คำนวณรอยเท้าคาร์บอนของมาชูปิกชูได้ 7,143.51 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเทียบกับปริมาณรอยเท้าคาร์บอนของ พ.ศ.2562 พบว่า ลดลง 1,618.38 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือลดลง 18.47 เปอร์เซ็นต์
สาเหตุที่มาชูปิกชูลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาจากมาตรการ 4 ข้อในการหาวิธีนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง ได้แก่ 1) ตั้งโรงงานบดอัดขวดพลาสติกโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate: PET) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าขวดเพ็ทและกล่องกระดาษ โดยเป็นโรงงานเชื้อเพลิงชีวภาพไบโอดีเซลที่ได้จากน้ำมันใช้แล้วจากร้านอาหารและกาสิโนหลายแห่ง ซึ่งไม่มีการจัดการน้ำมันใช้แล้วอย่างถูกต้อง จึงกลายเป็นสร้างมลพิษให้กับแหล่งน้ำ โรงงานบดอัดช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 35.32 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และการเปลี่ยนน้ำมันใช้แล้วให้กลายเป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซล ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 5.52 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
2) ตั้งโรงงานย่อยสลายขยะอินทรีย์ด้วยกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้ความร้อนโดยไม่ใช้ออกซิเจน เพื่อทำให้สารมีการสลายออกเป็นสารอื่น ๆ เช่น ควัน แก๊ส หรือสารที่มีลักษณะอินทรีย์ เช่น น้ำมันหรือยาง กระบวนการนี้ทำให้ได้ไบโอชาร์หรือถ่านชีวภาพที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ต่อไป
3) ติดตั้งเครื่องบดแก้ว 2 เครื่องที่เปลี่ยนขวดแก้วให้เป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง
4) ความพยายามในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งจุดแยกขยะไว้ทั่วเมือง และฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยการปลูกต้นไม้พื้นเมือง 6,596 ต้น เป็นต้น
ความพยายามต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ด้วย ดังนั้น เมื่อมาชูปิกชูได้รับตรารับรองว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งแรกและแห่งเดียวในโลกที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งแรกในลาตินอเมริกาที่เป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน คนในชุมชนจึงภาคภูมิใจกับความสำเร็จนี้มาก รวมทั้งชาวเปรูที่ได้เป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมของโลกที่มีความรับผิดชอบ และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อคนรุ่นต่อ ๆ ไป
มาชูปิกชูตั้งอยู่ในหุบเขาที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 2,430 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอินคาที่เคยรุ่งเรืองในภูมิภาคอเมริกากลาง หลักฐานใหม่ที่พบเมื่อปีที่แล้วทำให้การคำนวณอายุของมาชูปิกชูเปลี่ยนไป จากเดิมอยู่ที่ราว ๆ 600 ปี กลายเป็น 3,500 ปี ส่วนการสร้างเมืองโบราณที่ยังคงสภาพเดิมไว้ได้นี้ ยังไม่แน่ชัดว่าเพื่ออะไร นักโบราณคดีบางกลุ่มเชื่อว่ามาชูปิกชูถูกสร้างขึ้นเป็นฐานที่มั่นเพื่อหลบหนีการรุกรานของนักล่าอาณานิคม หรืออาจจะเป็นอารามของนักบวชหญิง พระราชวังฤดูร้อนของจักรพรรดิ วิหารบูชาหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ หรืออาจเป็นสถานที่จำลองตำนานกำเนิดโลกและจักรวาลตามคติความเชื่อของชาวอินคาก็เป็นได้
มาชูปิกชูได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่สาบสูญของชาวอินคา ทว่า ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2454 โดย ไฮรัม บิงแฮม (Hiram Bingham) นักสำรวจชาวอเมริกัน ซึ่งฝ่าความยากลำบากขึ้นไปพบซากเมืองโบราณบนสันที่เชื่อมยอดเขา 2 ยอด ล้อมรอบด้วยโตรกธารและหน้าผาสูงชัน ซึ่งคนพื้นเมืองเรียกว่า มาชูปิกชู ที่แปลว่าภูเขาโบราณ
โบราณสถานอารยธรรมอินคาในประเทศเปรูแห่งนี้เป็นมรดกโลก และเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ในโลกยุคใหม่ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้ไปเยือนปีละกว่า 1.5 ล้านคน
หลังจากได้ตรารับรองความเป็นกลางทางคาร์บอนครั้งแรกใน พ.ศ. 2564 ทาง Green Initiative ต่ออายุตรารับรองอีกครั้งใน พ.ศ.2657 มาชูปิกชูจึงกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์สีเขียวแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก
ที่มา
- https://www.inkaterra.com/newsletters/2024/junio/nl-junio.html
- https://bit.ly/40lFtfg
- https://greeninitiative.eco/2024/06/25/machu-picchu-the-first-wonder-of-the-world-to-renew-its-carbon-neutral-certification/
- https://finance.yahoo.com/news/machupicchu-only-wonder-world-carbon-100000494.html
- https://www.bbc.com/thai/international-60869035