Grid Brief

  • Pipatchara แบรนด์แฟชั่นยั่งยืนสัญชาติไทยประเดิมจัดแฟชั่นโชว์ครั้งแรกที่ London Fashion Week
  • แบรนด์นี้มีจุดเด่นที่ใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น หนังวีแกน คอตตอนออร์แกนิก และ ‘infinitude’ วัสดุรีไซเคิลที่ทางแบรนด์พัฒนาขึ้นเอง
  • ‘infinitude’ ทำจากขยะกำพร้าที่ไม่มีมูลค่าทางการตลาด เช่น ฝาขวดน้ำดื่ม กล่องทัปเปอร์แวร์ใส่อาหาร ช้อนส้อมพลาสติก ฯลฯ กลายเป็นแผ่นพลาสติกใสสีสันสวยงามที่นำไปทำกระเป๋าและเครื่องแต่งกายมูลค่าหลายหมื่นบาท

มหกรรมแฟชั่นสำคัญของโลกจัดขึ้นใน 4 เมืองหลวงแฟชั่นโลก ได้แก่ ลอนดอน มิลาน นิวยอร์ก และปารีส เป็นประจำทุก 6 เดือน โดยในฤดูกาลล่าสุดที่นำเสนอคอลเล็กชันประจำฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว 2024 ที่ London Fashion Week ปรากฏว่า มีแบรนด์ไทยไปร่วมแฟชั่นโชว์อย่างสวยสดงดงามด้วย

แบรนด์ไทยในลอนดอน

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2024 Home House สโมสรที่เปิดรับเฉพาะสมาชิกเท่านั้นได้เปิดประตูต้อนรับผู้ที่มีบัตรเข้าร่วมชมแฟชั่นโชว์ ‘Butterfly Effects’ ที่นำเสนอคอลเล็กชันใหม่ของ ‘Pipatchara’ แบรนด์เพื่อชุมชนของสองพี่น้อง 

เพชร-ภิพัชรา และทับทิม-จิตริณี แก้วจินดา

เครื่องแต่งกายและแอ็กเซสเซอรีส์ทั้งหมดของแบรนด์ล้วนทำจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ หนังวีแกน ผ้าคอตตอนออร์แกนิก และนางเอกของแบรนด์อย่าง ‘infinitude’ หรือแผ่นพลาสติกทำจากวัสดุรีไซเคิลที่นำไปร้อยเรียงต่อกันเป็นกระเป๋า เครื่องแต่งกาย และตกแต่งรองเท้า 

Pipatchara เป็นแบรนด์ไทยที่กลั่นกรองจากเพชร – ภิพัชรา แก้วจินดา ซึ่งเรียนจบด้านแฟชั่นดีไซน์จาก Academy of Art University ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ก่อนจะได้ทุนเรียนต่อด้านแฟชั่นที่สถาบันแฟชั่นอันทรงเกียรติที่ปารีสอย่าง École de la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne และผ่านการทำงานกับแบรนด์แฟชั่นแถวหน้ามากมาย อาทิ Ralph Lauren, Cholé และ Givenchy

ขยะกำพร้าที่กลายเป็นแฟชั่นหรู

‘infinitude’ เป็นวัสดุที่สองพี่น้องเพชรและทับทิม-จิตริณี แก้วจินดา ร่วมกันพัฒนาขึ้น ใช้เวลานานถึง 2 ปีเต็ม โดยเริ่มจากวันที่ 6 เดือน 6 ปี 2018 ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลกและเป็นวันเกิดของแบรนด์ Pipatchara ด้วย แนวคิดนี้เริ่มมาจากทับทิมพยายามหาทางใช้งานขยะกำพร้า ซึ่งเป็นขยะที่รถซาเล้งไม่รับซื้อ หรือนำไปรีไซเคิลแล้วไม่คุ้มค่า ส่วนใหญ่มาจากอาหารเดลิเวอรี เช่น ถาดอาหาร ถุงฟอยล์ถุงร้อน ช้อนส้อมพลาสติก ฯลฯ 

จนถึงช่วงวิกฤตโควิด เพชรและทับทิมมีเวลาได้พัฒนาวัสดุและสินค้าร่วมกับโรงงานขยะที่มีการจัดการขยะที่ดี โดยแยกขยะตามประเภทวัสดุและตามสีไว้อย่างเรียบร้อย เพื่อนำไปทำใหม่เป็นจานรองแก้วหรือของใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ได้มีมูลค่ามากนัก หากคนซื้อไปแล้วไม่ได้ใช้งานก็จะกลายเป็นขยะอีกครั้ง และจากศึกษาก็พบว่าโรงงานส่วนใหญ่จะฝังกลบพลาสติกกำพร้าเหล่านี้ 

สองพี่น้องจึงศึกษาเรื่องวิธีการแปรรูปพลาสติกด้วยการหลอมเหลวและนำไปขึ้นรูปใหม่ เริ่มทดลองนำพลาสติกหลาย ๆ ชนิดมาผสมกัน เช่น ฝาขวดน้ำดื่ม ช้อนส้อมพลาสติก ทัปเปอร์แวร์พลาสติกสีต่าง ๆ มาทำเป็นวัสดุแฟชั่น เพื่อให้ได้วัสดุไปทำกระเป๋าพลาสติกที่ต้องดูไม่ออกว่าทำจากขยะ แต่ดูเป็นวัสดุที่มีเอกลักษณ์ สวยงาม แปลกใหม่ จึงจะทำให้คนยอมจ่ายในราคาสูงได้ 

จากการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ทำให้เวลา 9 เดือนแรกหมดไปกับการทดลองผสมพลาสติกกับพลาสติกใสข้ามชนิดเพื่อให้ได้สีสันใหม่ ๆ ทว่าพลาสติกบางชนิดกลับเปราะ แตกง่าย จึงต้องทดลองอีก 4 เดือนเพื่อหาจุดหลอมเหลวที่ลงตัว พลาสติกที่ขึ้นรูปใหม่จึงจะคงรูปแข็งไม่เปราะแตก 

ความเป็นไปได้อันไม่มีที่สิ้นสุดของแฟชั่นยั่งยืน 

เมื่อได้พลาสติกรีไซเคิลคุณภาพดีแล้ว ต้องนำมาหักและเจียรทีละแผ่น เพื่อส่งไปให้ครูดอยที่เชียงรายซึ่งใช้เวลาว่างหลังหมดคาบสอนในแต่ละวันมานั่งเจาะห่วงร้อยทีละชิ้น ๆ หาแผ่นพลาสติกที่เหลี่ยมมุมเข้ากันมาร้อยเป็นกระเป๋าและเครื่องแต่งกาย ด้วยความที่เป็นกระบวนการทำมือ ผลงานหนึ่งชิ้นจึงใช้เวลาทำหลายชั่วโมง 

เพชรและทับทิมตั้งชื่อแผ่นพลาสติกรีไซเคิลสีสวยนี้ว่า ‘Infinitude’ ที่สื่อถึง ‘Infinite’ ความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุดของวัสดุรีไซเคิลชนิดใหม่นี้ และความเป็นไปได้อันไร้ขอบเขตของชุมชนทำงานคราฟต์ชาวไทย

วัสดุรีไซเคิล ‘Infinitude’ เคยได้ไปโชว์โฉมที่ Dubai Fashion Week ในปี 2022 และ 2023 ก่อนจะได้ไปสัมผัสอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนของอังกฤษที่ที่ London Fashion Week ในปี 2024 นับเป็นความสำเร็จในระดับสากลของแบรนด์แฟชั่นยั่งยืนสัญชาติไทยอย่าง Pipatchara

Photography: Pipatchara