Grid Brief
- พลาสติก PCR (Post-Consumer Recycled Resin) คือ เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ผลิตขึ้นจากพลาสติกที่ใช้งานแล้ว โดยสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง และยังคงคุณสมบัติและคุณภาพใกล้เคียงกับพลาสติกใหม่ ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
- ในเมืองไทยมี ENVICCO โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับฟู้ดเกรดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในจังหวัดระยอง ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (PCR) ภายใต้แบรนด์ InnoEco ที่มีแบรนด์ใหญ่ระดับโลกเลือกใช้เป็นบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มวางขายในหลายประเทศ
หลังจากอ่านฟีดในโซเชียลมีเดียที่พาดหัวว่า แบรนด์เครื่องดื่มของไทยมากมายที่ขายได้ปีละเป็นพันล้านขวดทั่วโลก…คำถามต่อมาคือ บรรจุภัณฑ์เหล่านั้นนำกลับมารีไซเคิลได้หรือไม่ มีการรีไซเคิลมากน้อยเพียงใด หรือเมื่อนำกลับมารีไซเคิลแล้วนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
ยกตัวอย่าง บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของ INGU แบรนด์สกินแคร์สัญชาติไทยประกาศว่า บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของแบรนด์ใช้ ‘พลาสติก PCR’ พร้อมคำแนะนำให้ผู้ใช้ทำความสะอาด แยกขยะ และส่งไปให้โครงการรับขยะต่าง ๆ เพราะพลาสติก PCR นี้ทำจากพลาสติกรีไซเคิลและสามารถนำกลับไปรีไซเคิลใหม่ได้อีกหลายครั้งโดยไม่เสื่อมประสิทธิภาพ
ข่าวดีคือ ไม่ต้องนำเข้าพลาสติกจากต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยมีโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับฟู้ดเกรดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว
พลาสติกถูกทำให้เป็นผู้ร้าย
ท่ามกลางขยะพลาสติกมหาศาลที่ต้องหาทางกำจัด พลาสติกจึงถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อมไปโดยปริยาย ทั้งที่ความจริงแล้วพลาสติกคือวัสดุมหัศจรรย์ที่ทั้งคงทน ยืดหยุ่น ขึ้นรูปเป็นรูปทรงใดก็ได้ และใช้งานได้หลายครั้ง
ทว่ารายงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) ระบุว่า “มีการประเมินไว้ว่ากว่าร้อยละ 40 ของพลาสติกถูกใช้งานเพื่อเป็นบรรจุภัณฑ์” นั่นหมายความว่า มีพลาสติกจำนวนมากที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ครั้งเดียว หรือไม่เอื้อต่อการนำกลับมาใช้ซ้ำ ผสมกับระบบการจัดการวัสดุที่ใช้งานแล้วที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้พลาสติก-วัสดุมหัศจรรย์กลายสภาพเป็นตัวร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม โดยมีพลาสติกใช้แล้วเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล ขณะที่ส่วนใหญ่ถูกฝังกลบหรือเผาจนกลายเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และเกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลกตามมาในที่สุด
PCR : พลาสติกที่ทำหน้าที่วัสดุมหัศจรรย์
ในประเทศไทยพบว่า ในปี 2561 มีขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั่วประเทศประมาณร้อยละ 65.3 ที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตัวเลขนี้ผลักดันให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมจัดการปัญหาขยะพลาสติก และหนึ่งในนั้นคือ ‘พลาสติก PCR’
พลาสติก PCR (Post-Consumer Recycled Resin) คือ เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ผลิตขึ้นจากพลาสติกจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้งานแล้ว เช่น ขวดพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติก ถุงพลาสติก ฯลฯ จากนั้นพลาสติกที่ใช้แล้วเหล่านี้จะถูกนำไปคัดแยก ทำความสะอาด และบดย่อยให้เป็นเม็ดพลาสติกขนาดเล็ก แล้วจึงขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ขวดพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติก ถุงพลาสติก เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า รองเท้า เป็นต้น
พลาสติก PCR สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง โดยยังคงคุณสมบัติและคุณภาพใกล้เคียงกับพลาสติกใหม่ และยังมีข้อดีต่อสิ่งแวดล้อมหลายประการ เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม
พลาสติก PCR แบรนด์ไทยที่แบรนด์ระดับสากลเลือกใช้
ENVICCO โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับฟู้ดเกรดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเอส เอส พี จังหวัดระยอง ประเทศไทย บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ของโรงงานได้ทำหน้าที่ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (PCR) ภายใต้แบรนด์ InnoEco
ทางบริษัทพยายามเชื่อมโยงกับชุมชนผ่านการสร้างศูนย์บริหารจัดการขยะรีไซเคิลและสร้างระบบการบริหารจัดการขยะของชุมชนให้ครบวงจรในจังหวัดต่าง ๆ เช่น ระยอง นครปฐม ฯลฯ และใช้แพลตฟอร์ม ‘GC YOUเทิร์น’ เข้ามาช่วยจัดการวิธีการคัดแยก การจัดเก็บ การขนส่ง เพื่อส่งต่อให้กับโรงงาน ENVICCO ไปคัดแยกและทำความสะอาด ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
ปัจจุบัน ENVICCO ผลิตพลาสติกรีไซเคิลได้ 2 ประเภท ได้แก่
- เม็ดพลาสติก InnoEco PCR PET เกรดสัมผัสอาหาร ผ่านกระบวนการคัดแยกและล้างด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ผ่านกระบวนการอัดรีดกระบวนการกำจัดสิ่งเจือปน และกระบวนการปรับปรุงคุณภาพ จนออกมาเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพระดับฟู้ดเกรด ไร้สารเจือปน นำไปขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารได้ โดยสีเข้มขึ้นเล็กน้อยเพราะผ่านความร้อนในการฆ่าเชื้อ แต่โดยรวมยังดูใสสะอาดเมื่อเทียบกับเม็ดพลาสติก PCR ทั่วไปในตลาด
InnoEco PCR PET ยังผ่านการรับรองโดยสำนักคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (อย.) เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย รวมทั้งผ่านมาตรฐานขององค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) และหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority : EFSA) โดยที่ทุกล็อตการผลิตยังตรวจสอบกลับไปถึงแหล่งที่มาของพลาสติกใช้แล้ว (Traceability) ได้ 100% ว่า ถูกเก็บรวบรวมมาจากบริเวณใดในประเทศไทย ตอบโจทย์เงื่อนไขบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์ในต่างประเทศที่หันมาใช้วัสดุรีไซเคิลที่ตรวจสอบแหล่งที่มาได้กันมากขึ้น
ปัจจุบันมีแบรนด์เครื่องดื่มระดับสากลที่มีจำหน่ายในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเลือกใช้เม็ดพลาสติก InnoEco PCR PET เกรดสัมผัสอาหารมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแล้ว
- เม็ดพลาสติก InnoEco PCR HDPE เกรดสำหรับบรรจุภัณฑ์ ผ่านกระบวนการคัดแยกและล้างด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ผ่านกระบวนการอัดรีด และกระบวนการกำจัดกลิ่น จนออกมาเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่มีสีสม่ำเสมอและไม่มีกลิ่น นำไปหลอมขึ้นรูปเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว และผลิตภัณฑ์ของใช้ภายในบ้านได้
โรงงาน ENVICCO มีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล 45,000 ตันต่อปี สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 140,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี ทดแทนโอกาสที่พลาสติกอาจรั่วไหลลงสู่ทะเลหรือถูกฝังกลบ 60,000 ตันต่อปี โดยนับถึงเดือนตุลาคม 2566 มีการนำขวดใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ 1,456ล้านขวด
จะเห็นได้ว่า ด้วยนวัตกรรมและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดีจะช่วยดึงศักยภาพของวัสดุมหัศจรรย์อย่างพลาสติกมาตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ย้อนกลับมาทำลายตัวเราเองและสิ่งแวดล้อม
ที่มา
รูปโดย teksomolika