Grid Brief
- ฟุจิโนะ โทมิยะ จิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น เจ้าของหนังสือขายดีกว่าแสนเล่มเรื่อง ‘ช่างมันเถอะ! อีกไม่กี่ปีเราก็เป็นเถ้าธุลีกันหมดแล้ว’ ที่สอนมนุษย์ยุค Productivity ให้เลิกพยายามมากเกินไป และหยุดพักมารักตัวเองเสียบ้าง
- หากเราหยุดพักไม่เป็น กดดันตัวเองมากไป เราอาจล้มป่วยทางกายและทางใจลงสักวัน
ฟุจิโนะ โทมิยะ จิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น ผู้เขียน ‘ช่างมันเถอะ! อีกไม่กี่ปีเราก็เป็นเถ้าธุลีกันหมดแล้ว’ หนังสือที่สอนวิธีให้คนที่ ‘หยุดพัก’ ไม่เป็น และพยายามเหลือเกินที่ทำให้คนอื่นพอใจ ยกเว้นตัวเอง ซึ่งเหลือเชื่อว่าเป็นหนังสือที่ขายได้มากกว่าแสนเล่มในญี่ปุ่น และเมื่อแปลเป็นภาษาไทยก็ได้เสียงตอบรับที่ดี สะท้อนว่าผู้คนยุค Productivity นั้นขยันเอาใจคนอื่นกันมาก ชนิดที่หยุดพักไม่เป็นเลยทีเดียว
อันที่จริงคุณหมอโทมิยะเป็นโรคคาวาซากิที่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่รักษาไม่หาย แพทย์เจ้าของไข้พยากรณ์โรคไม่ได้ด้วยซ้ำว่า ‘เด็กชาย’ จะมีชีวิตจนถึงวัยที่เป็น ‘นาย’ หรือเปล่า
เขาจึงโตมาด้วยความประคบประหงมจากครอบครัวที่ห้ามเขาทำโน่นทำนี่เต็มไปหมด เช่น ห้ามวิ่ง ห้ามออกกำลังกาย ห้ามใช้แรงมากเกินไป ห้ามทำให้ตัวเองเหนื่อย และต้องกินยาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
โรคประจำตัวนี้ทำให้เขาครุ่นคิดถึงการอยู่กับการตายราวกับเป็นเรื่องธรรมดา และตระหนักเสมอว่าเขาอาจมีชีวิตสั้นกว่าคนอื่น หากจะเป็นเช่นนั้น ก็ขอให้ช่วงเวลาที่มีชีวิต ได้อยู่อย่างอิสระและมีความหมายที่สุดเถอะ จนกลายเป็นแรงผลักดันให้เขาหันมารับฟังความรู้สึกของตัวเองก่อน และไม่ผูกสัมพันธ์กับคนที่มาเติมยาพิษให้ชีวิต เพราะอาจทำให้เขาที่ป่วยทางกายอยู่แล้ว ต้องป่วยทางใจเพิ่มขึ้นมาก็เป็นได้
คุณหมอเขียนเตือนใจตนเองไปพร้อม ๆ กับปลอบโยนผู้อื่นในโซเชียลมีเดียอย่างสั้น ๆ จนรวบรวมได้เป็นเล่ม และใช้ชื่อในภาษาไทยว่า ‘ช่างมันเถอะ! อีกไม่กี่ปีเราก็เป็นเถ้าธุลีกันหมดแล้ว’ หนังสือที่อุทิศให้ทุกคนที่พยายามมากเกินไป และมักเป็นฝ่ายปรับตัวให้เข้ากับค่านิยมของคนอื่น
หากคุณเป็นคนคนนั้นอยู่ คำแนะนำของคุณหมอฟุจิโนะ โทมิยะอาจเป็นใบสั่งยาที่คุณมองหาก็เป็นได้
25 ข้อคิดแด่เธอผู้พยายามมากเกินไป
ข้อคิดและคำแนะนำจากหนังสือ ‘ช่างมันเถอะ! อีกไม่กี่ปีเราก็เป็นเถ้าธุลีกันหมดแล้ว’ โดยจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น ฟุจิโนะ โทมิยะ
- เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกว่า “ต้องพยายามมากกว่านี้” ให้ลองถามตัวเองด้วยว่า “นี่เรากำลังพยายามมากเกินไปหรือเปล่า”
- หัดพูดว่า “ช่างมันเถอะ” กับเรื่องส่วนใหญ่ในชีวิตบ้างก็ได้
- แม้จะใช้ชีวิตอย่างล้มลุกคลุกคลานอยู่บ่อย ๆ แต่ก็ถึงเวลาที่ต้องโอบรับตัวเองแล้ว จงกล่าวขอบคุณ ให้กำลังใจ และใจดีกับตัวเอง
- ใช้วิธีมองด้วยมุมกว้าง เช่น ครั้งแรกคุณทำพลาด แต่ทำสำเร็จในครั้งที่ 9 โดยรวมแล้วจึงถือว่าโอเค หรือเรื่องนี้ฉันอาจบกพร่อง แต่มีเรื่องอื่นอีกเยอะแยะที่ฉันทำได้ดี
- แค่ได้รู้ว่า “มีทักษะแบบนี้ด้วย” ชีวิตเราก็เปลี่ยนไปจากเดิมนิดหน่อยแล้ว
- เมื่อเราขยายขอบเขตของคำว่า “เดี๋ยวก็มีทางออกเอง” สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ “ความรู้สึกว่ายังไหวอยู่” และทัศนคติแบบนี้จะทำให้คุณเป็นคนที่มีความสุขได้ง่าย
- “อารมณ์โกรธ” และ “การแสดงความโกรธ” เป็นคนละอย่างกัน หากรู้สึกโกรธขึ้นมา สิ่งสำคัญคือการหยุดอยู่นิ่ง ๆ สักพัก เพื่อจัดระเบียบความรู้สึกของตัวเอง แล้วพิจารณาต่อว่า “เราควรแสดงออกอย่างไรดี”
- อารมณ์โกรธไม่ใช่เรื่องแย่ บางครั้งก็ถูกเรียกว่า “ความเจ็บปวดทางจิตใจ”
- เป็นเพราะความไม่รู้ คุณถึงกังวลยังไงล่ะ ดังนั้นการลดทอนเรื่องที่ไม่รู้จึงสำคัญ
- การใส่คำว่า “ฉันตัดสินใจ…” จะทำให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ เช่น ฉันตัดสินใจว่าจะยอมรับตัวเองในแบบที่เป็น (ไม่ใช่บอกตัวเองว่า ฉันยอมรับตัวเอง) หรือถ้าคิดว่าเหนื่อยจัง ถึงจะต้องบังคับตัวเองสักหน่อย แต่ฉันก็ตัดสินใจว่าจะต้องหยุดพัก (ไม่ใช่บอกตัวเองว่า ฉันอยากหยุดพัก)
- ส่วนใหญ่คนที่บอกว่าเหนื่อยกับชีวิต คือ คนที่พึ่งพาใครไม่เป็น จนตัวเองเริ่มอ่อนล้าลงเรื่อย ๆ แต่หากมีใครสักคนที่คุณสามารถพูดกับเขาได้ว่า “ช่วยฉันหน่อยสิ” เท่านี้ก็บรรเทาความอ่อนล้าไปได้มากแล้ว
- วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ใจสงบ คือ การแทบไม่คาดหวังกับใครเลยตั้งแต่แรก ไม่ว่ากับตนเองหรือคนอื่น ถึงเราจะไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ได้สลักสำคัญ แต่ทำผิดพลาดบ้าง แต่ก็ไม่เป็นเป็นไรเลยนี่
- การรักตัวเองคือการยอมรับตัวเองอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่ว่าเราจะรักตัวเองด้วยเหตุผลว่า “เพราะฉันทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็น” “เพราะฉันพยายามกว่าใคร” หรือ “เพราะฉันเก่ง ฉันดีเลิศกว่าใคร”
- เวลาไปงานเลี้ยงก็มีแต่คนที่อยากพูดเรื่องของตัวเอง แต่สิ่งจำเป็นในการสื่อสารไม่ใช่การฝึกพูด แต่เป็นการฝึกไม่พูดและเป็นผู้ฟังที่ดี
- การคบหาเฉพาะคนที่เราอยากคบด้วย คือ สิ่งสำคัญที่ทำให้เราไม่ต้องฝืนพยายามมากเกินไป และยังถือเป็นความสุขในแบบของตัวเองได้อีกด้วย
- หากกำลังมีปัญหาเรื่องการถูกเกลียด ลองคิดว่า “ถึงจะถูกคนคนนั้นเกลียด แต่ฉันก็ไม่รู้สึกเศร้า”
- “เวลา” มีค่าเท่ากับ “ช่วงชีวิต” ดังนั้น จงอย่าสูญเสียช่วงชีวิตอันมีค่าของคุณไปกับคนที่ให้อภัยไม่ได้
- คำว่า “ก้าวไปข้างหน้า” ไม่รู้ใครเป็นคนกำหนดว่าทิศทางนั้นคือ “ข้างหน้า” เช่น การอดทนกับหัวหน้าที่หยาบคาย เรียกว่าเป็นความก้าวหน้าจริงหรือเปล่า
- “ถ้าเหนื่อยก็พัก” บางคนกลับรู้สึกเหมือนกำลังทำผิดอะไรสักอย่าง แต่เราสามารถพักผ่อนหรือทำตัวสบาย ๆ ได้ทั้งนั้น เพราะเราต้องเก็บออมพลังงานไว้สำหรับวันดี ๆ ไงล่ะ
- ถ้าทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเกินกำลังเสมอ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น คุณจะรู้สึกว่าทุกอย่างมันหนักหนาไปหมดจนเกินจะรับมือไหว
- สภาวะซึมเศร้ากับโรคซึมเศร้าไม่เหมือนกัน สิ่งที่ต้องทำเมื่อเป็นโรคซึมเศร้าคือไปหาหมอ ส่วนถ้าตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าคือ “พักก่อน” เนื่องจากจิตใจกำลังเหนื่อยล้าจจากการรับมือกับความผิดหวังเสียใจ
- ตอนที่รู้สึกเหนื่อย เราจะเปลี่ยนการบอกตัวเองว่า “ฉันพยายามแล้ว” หรือ “วันนี้ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย” ไปเป็นการชมตัวเองที่ตื่นนอน ล้างหน้า แต่งตัว ไปทำงาน ฝืนยิ้มและคุยกับคนที่ไม่ชอบหน้า นั่งหน้าคอมพิวเตอร์และทำสิ่งต่าง ๆ ได้ “แค่นี้ก็เก่งมากแล้ว”
- บางคนรู้สึกผิดที่ต้องลาหยุด กลัวว่าจะทำให้คนอื่นงานโหลดขึ้น ถ้าหยุดพัก ครอบครัวจะขาดรายได้ ฯลฯ แต่ถ้ายังฝืนต่อไป คุณจะล้มป่วยในสักวัน
- ถ้าดูทีวี อ่านหนังสือ หรือเล่นโซเชียลแล้วไม่รู้เรื่อง นี่อาจเป็นสัญญาณพฤติกรรมผิดปกติที่ร่างกายกำลังบอกว่า “เราอาจเหนื่อยหรือกดดันตัวเองมากเกินไปก็ได้”
- คุณไม่จำเป็นต้องบังคับตัวเองให้ลองทำอะไรใหม่ ๆ หรืออ่านหนังสือเพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง แม้แต่การอ่านบทความนี้เช่นกัน เมื่อไรที่รู้สึกเหนื่อยล้าก็แค่เข้านอนเลย
รูปโดย: Freepik