Grid Brief
- ยูกันดา เป็นประเทศแรกของทวีปแอฟริกาที่มีรถบัสไฟฟ้าใช้ โดยเริ่มทดลองวิ่งเมื่อกรกฎาคม พ.ศ.2563 ที่เมืองกัมปาลา เมืองหลวงของประเทศ
- รถบัสไฟฟ้านี้วิ่งได้ระยะทาง 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง จุผู้โดยสารได้มากถึง 90 คน และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคารถ เป็นการนำพลังงานสะอาดมาใช้เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศ
เมื่อเอ่ยถึงยูกันดา หลาย ๆ คนอาจนึกถึงประเทศที่มีนักกรีฑาที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก มากกว่าที่จะนึกถึงระบบคมนาคมสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ ในเวที ‘Global Business Forum Africa’ ที่ดูไบ หลายฝ่ายให้ความเห็นตรงกันว่า แอฟริกาเป็นตลาดใหม่ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และมีบทบาทสําคัญในยุทธศาสตร์ Dubai Silk Road ซึ่งแอฟริกาจะได้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของยูเออีในด้านโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว การค้าปลีกและการเงิน รวมถึงพลวัตทางการค้าของโลก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทวีปแอฟริกาเป็นที่น่าจับตาในการลงทุนด้านโครงสร้างการคมนาคม โดยเฉพาะรถบัสไฟฟ้า หรือรถสาธารณะเพื่อประชาชน
ความพิเศษชวนตื่นเต้นก็คือยูกันดาจะกลายเป็นประเทศแรกในแอฟริกาที่มีการใช้รถบัสไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยรัฐบาลยูกันดาจัดตั้งบริษัท Kiira Motors Corp. เพื่อผลิตรถบัสไฟฟ้า (EV Bus) ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2564 หลังจากนั้นคาดว่าจะมีกำลังการผลิตรถไฟฟ้าได้ปีละ 5,000 คัน
โครงการรถบัสไฟฟ้านี้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2550 โดยนักเรียนและอาจารย์ในมหาวิทยาลัย Makerere University ออกแบบรถร่วมกับสถาบัน Massachusetts Institute of Technology และสร้างรถไฟฟ้าสองที่นั่งคันแรกสำเร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 จากนั้นได้ผลิตรถทดลองรุ่นอื่น ๆ รวมถึงรถบัสพลังงานไฟฟ้าที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้เองจากการติดแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคารถ
สำหรับรถบัสไฟฟ้าต้นแบบคันแรกของทวีปแอฟริกาได้เริ่มทดลองใช้งานจริงแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ในเมืองกัมปาลา เมืองหลวงของยูกันดา ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งนี้ คุณสมบัติเบื้องต้นของรถบัสไฟฟ้าคันนี้ วิ่งได้ระยะทาง 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง จุผู้โดยสารได้มากถึง 90 คน โดยแบ่งเป็น 49 ที่นั่ง และ 41 ที่ยืน นอกจากนี้ รัฐบาลยูกันดายังระบุอีกด้วยว่า ชิ้นส่วน 90% ของ EV Bus คันนี้ ผลิตได้เองภายในประเทศ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ทองแดง พื้นรถที่ทำจากไม้ไผ่ ที่นั่งทำจากเส้นใยกล้วย หน้าต่าง ที่กรองอากาศ และแบตเตอรี่วิทยุความจุ 12 โวลต์ ขณะที่ชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่ต้องใช้เทคนิคชั้นสูงจะผลิตในจีน นอกจากรถบัสไฟฟ้าจะช่วยลดมลพิษให้กับเมืองกัมปาลาแล้ว ยังสร้างงาน สร้างอาชีพ และเป็นการนำทรัพยากรในประเทศมาใช้อีกด้วย เป็นการลดการพึ่งพิงต่างชาติ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม แม้ยูกันดาไม่ได้เป็นประเทศร่ำรวยอะไรมากนัก แต่ความพยายามแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องน่ายกย่อง และยังเป็นแบบอย่างความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมขึ้นเองและพัฒนาในเชิงพาณิชย์ โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมอีกด้วย
เคยมีคำกล่าวว่า พระเจ้าได้สร้างทะเลทรายมาพร้อมกับน้ำมันดิบปริมาณมหาศาลให้ประเทศแถบตะวันออกกลาง ทำให้ประเทศเหล่านั้นร่ำรวย แต่พระเจ้ากลับหลงลืมประเทศในทวีปแอฟริกาที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้งและยากไร้ ทว่า ปัจจุบันนี้สถานการณ์กลับตาลปัตร เมื่อน้ำมันดิบมีราคาผันผวน แต่พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีมากในทวีปแอฟริกากลับเริ่มมีมูลค่ามากขึ้น เชื่อว่าการผลิตรถบัสไฟฟ้าที่ตอบโจทย์กระแสความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ยิ่งทำให้เห็นว่าประเทศเล็ก ๆ ที่หลายคนอาจจะแทบไม่รู้จัก ก็ยังเต็มไปด้วยไอเดียที่หวังดีต่อโลกไม่แพ้ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นกัน
เรื่องโดย วิชชุ
รูปภาพโดย Kiira Motors