Grid Brief
- การจัดเรียงต้นไม้ที่เหมาะสมจะช่วยกำบังฝุ่นได้ถึง 20-60% ควรเลือกต้นไม้ 3 ระดับ ได้แก่ ไม้ขนาดใหญ่ ไม้ขนาดกลางและไม้ขนาดเล็ก ปลูกเป็นแนวอย่างน้อย 2 ชั้น แนวแรกคือไม้พุ่มขนาดกลาง และแนวที่สองปลูกไม้พุ่มขนาดเล็กสลับกับไม้ยืนต้น
ฤดูฝุ่นมาเยือนอีกครา ดังจะเห็นได้จากรายงานวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เริ่มขึ้นสูงในบางพื้นที่ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในฤดูร้อน แต่อย่าชะล่าใจรอให้ฝุ่นมาแล้วค่อยหาทางรับมือ เราสามารถป้องกันหรือบรรเทาค่าฝุ่นได้ตั้งแต่วันนี้และตลอดปีด้วยเพื่อนเก่าแก่ของเราที่ชื่อว่า ‘ต้นไม้’
ต้นไม้ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างไร
- ต้นไม้สามารถดูดซับกลิ่น มลพิษและฝุ่นละอองผ่านทางใบ เปลือกหรือลำต้นได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ชนิดใดก็ตาม จึงมีคุณสมบัติดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศได้
- เมื่ออากาศที่มีมลพิษเจือปนไหลผ่านเรือนยอดของต้นไม้แล้ว ปริมาณฝุ่น PM 2.5 จะลดลงได้ 10 – 50% และอุณหภูมิลดลง 0.4 – 3 องศาเซลเซียส
- ฝุ่น PM 2.5 จะเกาะแน่นตามผิวใบ ซึ่งมีสารคล้ายขี้ผึ้งหุ้มบาง ๆ และมีเส้นขนปกคลุมผิวใบ เปลือก กิ่งก้านหรือลำต้น เมื่อโดนน้ำฝนหรือการพ่น/รดน้ำใส่เรือนยอดจะช่วยชะล้างฝุ่นได้
- ฝุ่น PM 2.5 จะเข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อของพืชได้ทางปากใบและช่องอากาศตามกิ่งและลำต้น
- การสังเคราะห์แสงของพืชช่วยดูดฝุ่น PM 2.5 และก๊าซพิษต่าง ๆ เข้าไป แล้วเปลี่ยนเป็นออกซิเจนและไอน้ำออกมาแทนที่ ช่วยฟอกอากาศให้สะอาดได้ตามธรรมชาติ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและคณะ ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง ‘จัดวางต้นไม้อย่างไรให้ลดฝุ่น PM 2.5’ โดยเสนอแนะว่า การจัดเรียงต้นไม้ที่เหมาะสมจะช่วยกำบังฝุ่นได้ถึง 20-60% ประกอบไปด้วยต้นไม้ 3 ระดับ ได้แก่ ไม้ขนาดใหญ่ ไม้ขนาดกลางและไม้ขนาดเล็ก โดยมีหลักการคัดเลือกต้นไม้ ดังนี้
- ทรงพุ่มถึงเรือนยอด ไม่หนาทึบ ระบายอากาศดี
- ใบมีขนาดเล็ก มีขนหนาแน่น ใบขรุขระ มีเส้นใบแขนงมาก มีต่อม ตุ่ม
- หากเป็นใบเรียบควรมีไขเหนียวหุ้มบาง ๆ ช่วยดักจับฝุ่น
- อัตราการคายน้ำสูง แลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ดี
- เป็นไม้ไม่ผลัดใบ หรือผลัดใบระยะสั้น
- ควรปลูกคละกันระหว่างไม้ผลัดใบ ไม่ผลัดใบ ไม้ยืนต้นสูง ไม้พุ่มขนาดกลางและขนาดเล็ก
วิธีปลูกต้นไม้ดักจับฝุ่น
แนวที่ 1: ปลูกไม้ยืนต้นเป็นแนวกันชน เช่น ราชพฤกษ์ ประดู่บ้าน พิกุล ทั้งนี้ หากพื้นที่ปลูกอยู่ติดกำแพงที่ดินข้าง ๆ มากเกินไป ไม่ควรปลูกไม้ยืนต้นชิดกำแพงมากเกินไป แนะนำให้ข้ามไปปลูกแนวที่ 2 ได้เลย เพราะอย่างน้อยควรจัดวางพืชสองชั้น
แนวที่ 2: ปลูกไม้พุ่มขนาดเล็ก เช่น ลิ้นมังกร สับปะรดสี สนใบพาย กุหลาบหนู นีออน หลิวไต้หวัน หนวดปลาหมึกแคระ ประยงค์แคระ พุดซ้อน ฯลฯ
แนวที่ 3: ปลูกไม้พุ่มขนาดกลางสลับกับไม้ยืนต้น โดยไม้พุ่มขนาดกลาง เช่น จั๋ง ชาข่อย ตาเป็ดตาไก่ ยางอินเดีย เฟิร์นบอสตัน เฟิร์นดาบออสเตรเลีย หอมหมื่นลี้ หงส์ฟู่ ฯลฯ ส่วนไม้ยืนต้น เช่น มะเดื่อปล้อง รัก ทองกวาว นิโครธ สะเดา ฯลฯ โดยปลูกห่างจากความสูงของไม้พุ่มแถวแรกครึ่งหนึ่ง
การดูแลรักษาควรหมั่นรดน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อล้างใบและเพิ่มความชื้นในดิน
‘สวนภูมิทัศน์พรรณไม้ลด PM 2.5’ คือตั วอย่างการจัดวางต้นไม้เพื่อลด PM 2.5 ลองไปชมสวนจริงเพื่อนำมาเป็นแนวทางการจัดสวนที่บ้านหรือออฟฟิศได้ที่ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
ที่มา
- https://www.researchworldthailand.com/%E0%B8%A7%E0%B8%8A-%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%98-%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%9E/
- https://www.dnp.go.th/botany/PDF/publications/PM25.pdf
- https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_262264